xs
xsm
sm
md
lg

4 แบงก์ถือซีดีโอยังไม่พ้นเสี่ยง กันสำรองเพิ่ม-กระทบกำไร Q1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซับไพรม์กดค่าซีดีโอไม่หยุด ไทยธนาคารยังน่าห่วง ส่วนแบงก์กรุงเทพ กรุงไทย และกรุงศรี กระทบไม่มากเชื่อจากฐานะการเงินที่มั่นคงช่วยให้รับมือได้ไม่ยาก ด้านนายแบงก์พร้อมใจกัดฟันไม่ขายออก พร้อมถือจนครบอายุรอเงินคืนคุ้มกว่า

จากความผันผวนของการเงินโลกที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทั้งจากปัญหาสินเชื่ออสังหาคุณภาพต่ำ(ซับไพรม์) และการชะละตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คงเป็นสิ่งที่ยากที่สถาบันการเงินต่าง ๆ จะหลีกเลี่ยงได้ โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยแม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนักในด้านของเงินทุน เนื่องจากความแข็งแกร่งของสถานทางการเงินที่มีความมั่นคงสูง อีกทั้งธนาคารในประเทศไทยมีการพึ่งพาการระดมทุนในตลาดต่างประเทศค่อนข้างต่ำ และการระดมทุนภายในประเทศทั้งด้านเงินฝาก การออกตราสารหนี้และการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ก็ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสภาวะตกต่ำในตลาดการเงินต่างประเทศ

แต่ปัจจัยเสี่ยงตัวหนึ่งที่เชื่อมโยงกับปัญหาตลาดการเงินโลกผันผวนจากภาวะวิกฤตซับไพรม์และเป็นส่วนที่กดดันผลประกอบการก็คือการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่มีสินทรัพย์อ้างอิง (Collateralized Debt Obligations) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ซีดีโอ ของธนาคาร 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL , ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT นั่นเอง

ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารซีดีโอนี้จะมีเพียง ธนาคารไทยธนาคาร เพียงแห่งเดียวที่ได้ลงทุนในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์โดยตรง ถึงแม้จะเป็นจำนวนไม่สูงนักสำหรับส่วนที่ลงทุนในซับไพรม์แต่ก็น่าจะเป็นส่วนที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของธนาคารค่อนข้างอย่างชัดเจน ส่วนธนาคารแห่งอื่นแม้ว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนจะไม่ใช่ซับไพรม์ แต่การด้อยค่าของมูลค่าตราสารที่ได้ลงทุนไปก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน และยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าความเสียหายในอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นขนาดไหน

โดยนายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงิน มองว่า ความเสี่ยงหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเจอก็ถือความเสี่ยงในการลงทุนในตราสารซีดีโอ และคาดว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่ลงทุนในตราสารดังกล่าว ซึ่งหมายความถึง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการลงทุนในตราสารซีดีโอนี้ในจำนวนที่ไม่มากนัก โดยมีสัดส่วนการลงทุนน้อยกว่า 6% ของระดับเงินทุน น่าจะสามารถจัดการและรับมือกับความเสี่ยงในส่วนนี้ได้ ถึงแม้ว่าฟิทช์คาดว่าธนาคารเหล่านี้จะมีการรายงานการขาดทุนเพิ่มเติมจากการตั้งค่าเผื่อการปรับมูลค่าตลาดในการลงทุนในตราสารซีดีโออีกในไตรมาสแรกของปีนี้

แต่ธนาคารไทยธนาคาร ซึ่งเป็นธนาคารขนาดเล็กและน่าจะได้รับผลกระทบขาดทุนจำนวนมากจากการลงทุนในตราสารซีดีโอ จากปัจจัยลบในตลาดตราสารหนี้ประเภทแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐฯ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า ในไตรมาสแรกนี้ธนาคารกรุงเทพจะรายงานกำไรสุทธิขยายตัวที่ 5.3 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.6% YoY และ 29.8% QoQ และคาดว่าธนาคารจะต้องปรับลดมูลค่าตราสารซีดีโอ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200-300 ล้านบาทในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ดีคาดว่าผลขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าตราสารซีดีโอดังกล่าวจะถูกชดเชยโดยกำไรจากการขายสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ในไตรมาส ณ สิ้นปี 2550 ธนาคาร ได้บันทึกการเสื่อมค่าไปแล้วจำนวน 1.1 พันล้านบาท จากมูลค่าซีดีโอ รวมที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรื อประมาณ 1.7 พันล้านบาท

ส่วนธนาคารกรุงไทยคาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิ ที่ 3.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 620% QoQ แต่ลดลง 31.8% YoY ตัวเลขดีขึ้น QoQ และอาจมีการปรับลดมูลค่าตราสารซีดีโอเพิ่ม ทั้งนี้ธนาคารกรุงไทยได้บันทึกสำรองสำหรับการปรับลดมูลค่าตราสารซีดีโอ ไว้ 3 พันล้านบาทในไตรมาสที่แล้ว หรือคิดเป็น 55.0% ของมูลค่าตราสารซีดีโอ รวมที่ 160 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าตราสารซีดีโอที่เสื่อมค่าจริงอยู่ที่ 40-45% ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 50

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิ ที่ 1.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% YoY และ 20.0% QoQ ตัวเลข YoY อาจดูเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.35 พันล้านบาทเทียบกับ 800 ล้านบาทในไตรมาส 1/50 และผลขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าตราสารซีดีโอ เพิ่มเติมอีกในไตรมาสนี้ และคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จะปรับลดมูลค่าตราสารซีดีโอเพิ่มอีก 500-600 ล้านบาทในไตรมาสแรกนี้ เพิ่มจากที่ได้ปรับลดไปแล้วประมาณ 587 ล้านบาทในไตรมาส 4/50 ทำให้มูลค่าตราสารซีดีโอที่ปรับลดรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/51 คิดเป็น 40% ของมูลค่าตราสารซีดีโอรวมที่ 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 3 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธนาคารเหล่านี้จะต้องมีการสำรองเพิ่มเติมตามการด้อยค่าของตราสารซีดีโอนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริหารก็ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะยังไม่มีการขายออกแต่อย่างใด และยืนยันจะถือจนครบกำหนด เนื่องจากจะได้เงินต้นคืนกลับมาพร้อมกับอัตราดอกเบี้ย

ด้านนายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในตราสารซีดีโอของธนาคารทั้ง 4 แห่งนั้น หากย้อนดูไปตั้งแต่ในช่วงสิ้นปีที่แล้วจะเห็นว่าทุกธนาคารได้มีการตั้งสำรองการด้อยค่าของซีดีโอไว้ค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าในไตรมาส 1 นี้แต่ละธนาคารยังคงต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เนื่องความผันผวนของตลาดเงินโลกยังได้ส่งผลกระทบต่อตราสารซีดีโอที่ได้ลงทุนไป

โดยเฉพาะธนาคารไทยธนาคารที่แม้จะมีการลงทุนมากที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 3 ธนาคาร แต่จากปลายปีที่แล้วได้สำรองไปค่อนข้างสูงหรือน่าจะอยู่ที่ 70-80% แล้ว ทำให้ในไตรมาส 1 ปีนี้คาดว่าการสำรองอาจจะไม่สูงนัก แต่การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของธนาคารและผลประกอบการที่ผ่านมาในแต่ละไตรมาสที่มีอยู่ในจำนวนที่ไม่สูงนั้น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารได้พอสมควร

ส่วนธนาคากรุงไทย เมื่อสิ้นปีก่อนได้มีการสำรองไปแล้วประมาณ 60% ของมูลค่าทั้งหมดของซีดีโอ ทำให้แนวโน้มในการตั้งสำรองในไตรมาส 1 นี้จึงมีน้อยมาก แต่จากปัญหาในสหรัฐฯที่ยังคงไม่หยุดนั้นทำให้ในที่สุดแล้วก็ต้องมีการตั้งสำรองซีดีโอเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนธนาคารกรุงเทพนั้น เมื่อสิ้นปีก่อนได้มีการตั้งสำรองไปแล้วถึง 60% เช่นกัน และมีแนวโน้มที่จะต้องตั้งสำรองเพิ่มอีก 300 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้การตั้งสำรองเพิ่มเป็น 80% ของมูลค่าซีดีโอ ถือว่าเป็นการนสำรองที่สูงมากทำให้ในส่วนของธนาคารกรุงเทพไม่ได้มีความน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการลงทุนในซีดีโอนี้ และถึงแม้จะมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารเพียงแค่ 2% เท่านั้น ด้านธนาคารกรุงศรีนั้นยังคงต้องติดตามตัวเลข เนื่องจากการตั้งสำรองขึ้นอยู่กับราคาที่ลดลง

โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารมีนโยบายลงทุนในซีดีโอจนครบอายุ ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ลงทุนในซีดีโอ ทั้งหมด 5 พันล้านบาท และตั้งสำรองไปแล้ว 3 พันล้านบาท หากถือครบอายุก็จะได้รับเงินคืนทั้งหมด และถึงแม้ปัจจุบันธนาคารจะถือซีดีโอไว้ แต่ก็เป็นการถือตามเงื่อนไขของมาตรฐานบัญชีใหม่ไม่มีเจตนาที่จะขายออกไป แม้ว่าปัจจุบันปัญหาซับไพร์มยังไม่สามารถคาดได้ว่าจะสิ้นสุดในช่วงใด

ด้านนางสาวเยาวลักษณ์ พูนทอง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านสื่อสารองค์กร และนักลงทุนสัมพันธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารยังมีนโยบายในการถือซีดีโอจนครบอายุ แม้ปัจจุบันปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่การลงทุนในซีดีโอ ของธนาคารไม่ได้ลงทุนในซับไพร์มจึงไม่มีปัญหา อีกทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนยังเป็นที่น่าพอใจ โดยปัจจุบันได้รับผลตอบแทนอยู่ที่ 6% ซึ่งการลงทุนนี้จะครบอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากถือครบอายุก็สามารถนำเงินกันสำรองในการลงทุนกลับมาเป็นกำไรได้
กำลังโหลดความคิดเห็น