xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์คาดกำไรแบงก์ปีนี้กระเตื้อง "ไทยธนาคาร" อ่วมสุดรับผล CDO

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์มองว่าภาพรวมผลประกอบการของธนาคารไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2551 เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่ความผันผวนในตลาดเงินโลก และความเสี่ยงในการลงทุน CDO โดย BT หนักโดนสุดที่ต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อชดเชยการด้อยค่าของตราสาร ขณะที่ BBL KTB และ BAY จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

นายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงินเปิดเผยถึงแนวโน้มผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ว่า น่าจะดีขึ้นจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่คาดว่าจะลดลง และการเติบโตของสินเชื่อเนื่องจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นผู้บริโภค รายย่อยและการลงทุนที่เพิ่มจากภาคธุรกิจ โดยคาดว่าธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB),ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) จะยังคงสามารถรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งต่อไป ในขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY),ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารกรุงไทย (KTB) น่าจะรายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2551 เนื่องจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อ แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่มีเสถียรภาพ และอาจมีการเพิ่มอันดับเครดิตในบางธนาคารได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงาน โดยความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อและสภาพคล่องได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ความเสี่ยงในการลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO และตราสารที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนประเภทอื่น และความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องอันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจของผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้อื่น

ทั้งนี้ โดยภาพรวมธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทยนั้นมีสถานะการเงินที่ค่อนข้างมั่นคง และคาดว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อและสภาพคล่องนี้ได้ โดย BBL, KTB และ BAY มีการลงทุนในตราสารประเภท CDO ไม่มากนัก โดยมีสัดส่วนการลงทุนน้อยกว่า 6% ของระดับเงินทุน ซึ่งคาดว่าธนาคารเหล่านี้จะมีการรายงานขาดทุนเพิ่มเติมจากการตั้งค่าเผื่อการปรับมูลค่าตลาดในการลงทุนในตราสารประเภท CDO อีกในไตรมาสแรกของปี 2551 ในขณะที่ธนาคาร ไทยธนาคาร (อันดับเครดิตสนับสนุนที่ 4) หนึ่งในธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งต้องทำการเพิ่มทุนอีกครั้งในช่วงต้นปี 2551 เนื่องจากความเป็นไปได้ของการขาดทุนจำนวนมากจากการลงทุนในตราสารประเภท CDO

สำหรับผลกระทบจากปัจจัยลบในตลาดการเงินต่างประเทศที่มีต่อภาคธุรกิจการเงินในประเทศจะค่อนข้างจำกัด ขณะที่ราคาน้ำมันที่สูง ค่าเงินบาทที่แข็งตัว และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2551 อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากทางภาครัฐบาลและภาคธุรกิจที่มากขึ้น และการฟื้นตัวในการใช้จ่ายของผู้บริโภครายย่อยนั้น จะสามารถช่วยลดทอนปัจจัยลบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกและคาดว่าจะช่วยรักษาระดับการเติบโตของ GDP ไว้ได้ที่ 5% ในขณะเดียวกัน คาดว่าธนาคาร จะมีการเร่งแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งคาดการณ์ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลงต่ำกว่า 5% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารมีผลขาดทุนจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น แต่ฟิทช์มองว่าปัจจุบันธนาคารใหญ่เหล่านั้นมีระดับเงินทุนที่แข็งแกร่งและแนวโน้มของประกอบการ ที่ดี ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะรองรับผลขาดทุนเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตาม การเริ่มใช้เกณฑ์ Basel II อาจส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนในระบบลดลงในระดับหนึ่งภายในสิ้นปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น