xs
xsm
sm
md
lg

“ประดิษฐ์” เจอตอใหญ่! หนี้เน่าท่วมแบงก์รัฐ ถูกแบล็กเมล์เพิ่มทุน-โร่เคลียร์ “เลี้ยบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประดิษฐ์” เก้าอี้ร้อน หนี้เน่าท่วมแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ มีการทุจริตปล่อยสินเชื่อหลายพันล้านบาท แถมโดนแบล็กเมล์ รุมขอเพิ่มทุนหน้าตาเฉย โดย ธพว.ขอเพิ่มทุน 5,000 ล้านบาท ธอส.ขอเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านบาท และ บสย.ขอเพิ่มทุน 1,700 ล้านบาท เตรียมถกด่วน “ขุนคลังเลี้ยบ” ขอแบ่งงบปี 52 เพิ่มทุนให้แบงก์รัฐ

วันนี้ (24 มี.ค.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) โดยระบุว่า จากการที่ได้รับรายงาน คิดว่า ปัญหาของ บสย.คล้ายกับสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ คือ ต้องการเพิ่มทุน เพื่อให้องค์กรสามารถขยายงานและเดินหน้าต่อไปได้ โดยหลังจากได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอของทุกสถาบันการเงินของรัฐที่กำกับดูแลแล้ว จะได้เร่งสรุปความเป็นไปได้ที่จะขอใช้งบประมาณปี 2552 สนับสนุนการเพิ่มทุนธนาคารของรัฐ ซึ่งจะได้หารือกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อรายงานสถานการณ์ของสถาบันการเงินของรัฐทั้งหมด คาดว่า จะได้หารือร่วมกันก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ ปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐคงจะไม่ได้เป็นการเพิ่มทุนให้ครั้งเดียวกว่า 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมและสามารถตอบคำถามต่อรัฐสภาได้

“หากพิจารณาในส่วน บสย.อยากให้มองว่าองค์กรนี้ไม่ได้เน้นสร้างผลกำไร แต่เน้นช่วยผู้ประกอบการขนาดย่อม ซึ่งยอมรับว่า ผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมาขาดทุน แต่จริงๆ แล้วยังมีกำไรขั้นต้น แต่เมื่อหักตั้งสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ทำให้ขาดทุน ซึ่งจะพิจารณาว่า บสย.จะต้องเพิ่มทุนเท่าไร”

สำหรับการตรวจเยี่ยม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือแบงก์เอสเอ็มอี ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าววงในระบุว่า ผู้บริหารได้กล่าวสรุปรายงานสถานการณ์แบงก์ มีปัญหาหนี้เสียเกือบครึ่งของพอร์ตสินเชื่อ และต้องตั้งสำรอง เพราะอาจกระทบต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) เหลือแค่ 9% แถมยังเจอปัญหาเจ้าหน้าที่ทุจริตปล่อยสินเชื่อ

แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า ผู้บริหาร ธพว.ได้เอ่ยปากขอเงินรัฐอุดหนุน 4,000 ล้านบาท เพราะต้องการนำมาเพิ่มทุน 3,000 ล้านบาท และอีก 900 ล้านบาท เจียดไปจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้ารายละ 3% ส่วนอีก 100 ล้านบาท กันไว้จัดโปรแกรมฝึกอบรมให้ลูกค้า

สำหรับการตรวจเยี่ยมธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ต้องเจอขาใหญ่แบล็คเมล์ เช่นเดียวกัน โดยแหล่งข่าวระบุว่า นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส.ก็ถือโอกาสยื่นขอเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผล ธอส.มีทุนเหลือแค่ 17,000 ล้านบาท มี BIS 9% แต่กลับปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 6 แสนล้านบาท ซึ่งตามเกณฑ์แบงก์ชาติ ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 12.5 เท่าของเงินกองทุน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าวความไม่ชอบมาพากลมากมายในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล สะพัดออกมาเป็นระลอกๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ ธปท.ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ สูงถึง 25 กรณีนั้น คณะกรรมการตรวจสอบฯ ชุดที่มี นายนริศ ชัยสูตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ได้มีการประชุมนัดแรกในสัปดาห์นี้ เพื่อตั้งประเด็นการสอบสวน ก่อนจะเรียกเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบสวนต่อไป

โดยเบื้องต้นจากรายงานของ ธปท.พบว่า การปล่อยสินเชื่อทั้ง 25 กรณีดังกล่าว คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 1.15 พันล้านบาท ซึ่งแต่ละกรณีจะมีวงเงินไม่สูงมากประมาณไม่เกิน 75 ล้านบาทต่อกรณี

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ ธปท.ที่แจ้งมายังกระทรวงการคลัง คาดว่า มีประมาณ 8 กรณีที่น่าจะเป็นลูกหนี้กลุ่มเดียวกัน แต่มีการซิกแซ็กแยกกันกู้ ซึ่งผิดระเบียบของ ธพว.คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกันถึง 200-300 ล้านบาท

มีการกล่าวถึงรายงานของ ธปท.ที่แจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบฯ ระบุว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความผิดปกติในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ราคาประเมินหลักประกันสูงเกินไป การประเมินหลักประกันขาดความน่าเชื่อถือ โดยมีอยู่ 10 กว่ารายที่ประเมินสูง หรือผู้กู้คนละกรณีแต่มีลักษณะเป็นกลุ่มเดียวกัน มีบางส่วนที่ซ้ำกับ 27 กรณีก่อนหน้านี้ที่นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย นอกจากนี้ ก็มีเรื่องการเบิกเงินกู้หรือทำนิติกรรมไม่เป็นไปตามระเบียบของแบงก์ ก็มี 10 กว่ารายเช่นกัน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ คงจะมีการตั้งประเด็นการสอบสวน โดยจะต้องพิจารณาจากรายงานของ ธปท.ว่า มีการตั้งประเด็นความผิดปกติอะไรบ้าง และพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่รายใดเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นจะเรียกเอกสารมาตรวจสอบ จึงจะได้ทราบว่าแต่ละบริษัทที่เป็นลูกหนี้นั้นมีใครเป็นผู้ถือหุ้นบ้าง ซึ่งขณะนี้ได้มีการอายัดเอกสารเอาไว้แล้ว แล้วหลังจากนั้น จึงจะมีการเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ทั้งนี้ การสอบสวนต้องดูว่าเจ้าหน้าที่ของแบงก์เจตนาหรือไม่ โดยถ้าดูเอกสารแล้วมีหลายบริษัทที่มีชื่อผู้ถือหุ้นซ้ำกันก็อาจจะมองว่าเป็นการเจตนาได้ แต่คิดว่า ทั้ง 25 กรณีนี้ คงไม่ถึงระดับคณะกรรมการบริหารของธนาคาร เพราะแต่ละรายวงเงินไม่เกิน 75 ล้านบาท เป็นรายเล็กๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สามารถปล่อยกู้ได้ถึง 100 ล้านบาท ซึ่งอย่างไรก็ดี หากมีการให้การซัดทอดก็อาจถึงผู้บริหารระดับสูงหรือนักการเมืองได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น