xs
xsm
sm
md
lg

คนอยากมีบ้านฝันค้าง บอร์ดธอส.โยนมอร์เกจฯเข้ากรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ประชาชนที่ไม่มีเงินดาวน์ฝันค้าง อดมีบ้านหลังบอร์ด ธอส.ไม่ปลื้ม สั่งศึกษาการจัดตั้งบริษัทคำประกันสินเชื่อบ้านใหม่ทั้งหมด พร้อมโยน 10 คำถามหาคำตอบทั้งๆที่ทำการศึกษาและพัฒนามากว่า 8 ปี แหล่งข่าวจวกทุกคำถามมีคำตอบอยู่แล้ว วอนนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมอย่าเล่นเกมส์การเมือง

แหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งบริษัทค้ำประกันนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ มอร์เกจ อินชัวรันส์ ว่า ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังยกเรื่องดังกล่าวออกจากการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปี ธอส.ต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมธนาคารหรือบอร์ดธอส. ใหม่อีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการธนาคาร สั่งให้กลับไปศึกษามาใหม่เกือบทั้งหมด โดยตั้งคำถามให้ไปศึกษาใหม่กว่า 10 ข้อ

“คำถามที่ตั้งมานั้นล้วนมีคำตอบอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องนำกลับไปศึกษาใหม่ ส่วนบางคำถามเป็นปัญหาที่หาคำตอบไม่ได้ แค่รู้ว่าคำถามมีอะไรก็บอกได้คำเดียวว่าเรื่องนี้ถูกดึงไว้ยาวและคงเกิดได้ยาก นอกจากว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องการให้เรื่องนี้เป็นนโยบายและสั่งการลงมาโดยตรง โดยไม่ผ่านรัฐมนตรีช่วยบางคนที่ต้องการไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และไม่เข้าใจว่าจะจึงเรื่องนี้ไว้ทำอะไร เพราะหากมีมอร์เกจ อินชัวรรันส์ในไทยจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย”

ทั้งนี้สิ่งที่ประธานบอร์ดให้ไปทำการศึกษาใหม่และท้วงติงมานั้น อาทิ 1.ให้กลับไปทำโมเดลใหม่ ไม่ให้ใช้โมเดลของประเทศแคนนาดาเพราะเป็นการนำมาใช้ในประเทศไทยไม่ควรลอกโมเดลของประเทศอื่นมา อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวชี้แจงว่า โมเดลดังกล่าวไม่ใช่ลอกมาจากแคนนาดา แต่เป็นชาวแคนนาดาที่มีประสบการณ์ในการจัดทำมอร์เกจ อินชัวรันส์สำเร็จมาแล้วในแคนนาดา อีกทั้งยังศึกษาร่วมกับเจ้าหน้าที่จากธนาคารโลกร่วมกับธอส. ในการสำรวจและหาข้อมูลจากมทุกภาคส่วนในประเทศไทยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทประกัน ธนาคารพาณิชย์ ผู้บริโภค กรมที่ดิน นักประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้บริโภค ดังนั้นโมเดลดังกล่าวจึงจัดทำขึ้นบนพื้นฐานของประเทศไทยโดยแท้จริง

2.ให้กลับไปศึกษาว่าใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากบริษัทค้ำประกันสินเชื่อฯ บ้าง ธอส.จะได้อะไร 3. ไปสำรวจตลาดมาว่ามีดีมานด์ มากน้อยแค่ไหน ประชาชนต้องการจริงหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้หากอ่านในเนื้อหาที่นำเสนอก็จะทราบข้อดี-ข้อเสียและมีใครต้องการบ้าง

4. การจัดตั้งบริษัทดังกล่าวจะต้องทำหลังจากมีการนำระบบบาเซิล 2 หรือการดำรงเงินกองทุนตามมาตรฐานบาเชิล 2 มาใช้แล้วเท่านั้น ซึ่งข้อนี้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ใช้ระบบนี้มานานแล้วยกเว้น ธอส. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นอกจากนี้ยังท้วงติงว่า การนำบริษัทค้ำประกันสินเชื่อมาใช้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้จะเกิดผลเสีย มากกว่าผลดี และอาจทำให้สถาบันการเงินมีความเสี่ยง ซึ่งแหล่งข่าวได้ชี้แจงว่า การให้มีบริษัทค้ำกันสินเชื่อไม่มีความเสี่ยงเพราะดูตัวอย่างในปัจจุบันขณะที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาด้านการเงิน ยอดเอ็นพีแอลจากสินเชื่อบ้านพุ่งสูง แต่ในแคนนาดากลับมีหนี้เสียของสินเชื่อบ้านน้อยมาก สะท้อนให้เห็นว่า มอเกจ อินชัวรันส์ป้องกันการเกิดเอ็นพีแอล เพราะอย่าลืมว่าการค้ำประกันสินเชื่อไม่ได้ค้ำประกันให้คนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับราคาบ้าน แต่จะค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ที่มีรายได้ตามเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ แต่ไม่มีเงินก้อนสำหรับดาวน์บ้านเท่านั้น

ส่วนกรณีที่การดำเนินงานของธอส.ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อบ้าน 80-90% แต่กลับมาค้ำประกันในส่วน 20% ให้แก่ลูกค้านั้นไม่เหมาะสมนั้น ตามข้อกำหนดของการจัดตั้งบริษัทค้ำประกันสินเชื่อกำหนดไว้ชัดเจนว่า เพื่อให้บริษัทดังกล่าวเกิดขึ้นได้ ธอส.ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งต้องถือหุ้นประมาณ 20% และลดบทบาทของตนเองลงจนไม่มีหุ้นในบริษัทดังกล่าวภายในเวลา 5 ปี ซึ่งเท่ากับว่าธอส.จะไม่มีความเสี่ยงจากการดำเนินงานทั้ง 2 ขา ซึ่งในช่วงศึกษาได้เคยลองให้บริษัทประกันเป็นผู้ดำเนินการก่อตั้ง แต่ไม่ได้ผลเพราะเป็นหน่วยงานเอกชนและไม่มีบทบาทในการผลักดัน

"บอร์ดธอส.ชุดก่อนหน้านี้ได้ผ่านแผนการจัดตั้งบริษัทค้ำประกันไปแล้ว พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานไปแล้ว 60 ล้านบาท จนกระทั้งเรื่องไปอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่เมื่อกระทรวงการคลังดึงเรื่องกลับมาให้บอร์ดชุดใหม่พิจารณา ตามมารยาทบอร์ดเมือรู้ว่าผ่านบอร์ดชุดเก่าแถมอนุมัติงบไปแล้วก็น่าจะให้ผ่าน ไม่ควรใช้เกมส์การเมืองมาดึงเรื่องดีๆไว้"

อนึ่งรูปแบบของบริษัทค้ำประกันสินเชื่อ จะค้ำประกันวงเงินสินเชื่อให้ประชาชนสามารถกู้เงินซื้อบ้านได้เต็มม 100% ซึ่งตามปกติธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้ 70-80% โดยบริษัทจะเข้ามาค้ำใประกันส่วนที่เหลืออีก 20% ให้แแก่ธนาคารเพื่อลดความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น