“ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” สั่งประธานบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ รวมผลสอบทุจริตเอสเอ็มอีแบงก์ ทั้ง 2 กลุ่ม กว่า 50 ราย คาดสรุปผลได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ฟันวินัยพนักงานที่เกี่ยวข้องพร้อมส่ง ป.ป.ช.เอาผิดทางอาญา
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ได้รายงานผลการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อทุจริตจำนวน 25 ราย และ 27 ราย ให้รับทราบแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า มีการกระทำผิดอย่างเป็นกระบวนการจริง จึงได้ให้คณะกรรมการนำข้อมูลการตรวจสอบทั้งสองกลุ่มดังกล่าวไปรวบรวมเป็นชุดเดียวกัน เพื่อให้การตัดสินใจดำเนินการง่ายขึ้น
“ตอนนี้ผมได้สั่งการไปแล้วให้ประธานบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ไปรวบรวมข้อมูลการทุจริตสินเชื่อทั้งสองกลุ่มที่มีการตรวจสอบไปก่อนหน้านี้ให้สมบูรณ์แล้วค่อยเสนอมาให้อีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ ข้อมูลทุกอย่างจะเรียบร้อยและสามารถตัดสินใจดำเนินการกับเรื่องนี้ให้เสร็จเรียบร้อยได้” นายประดิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ การสอบสวนกรณีทุจริตจำนวน 25 รายนั้น เป็นการยื่นขอสินเชื่อรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท มีวงเงินสินเชื่อรวมกันกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งในการสอบสวนกรณีนี้ได้มอบหมายให้ นายนริศ ชัยสูตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบใน 25 กรณีนี้ ซึ่งผลการสอบสวนการปล่อยสินเชื่อทุจริตในกลุ่มนี้จากพนักงานจำนวน 90 ราย พบว่ามีเจ้าหน้าที่สินเชื่อเกี่ยวข้องกับทุจริตปล่อยสินเชื่อจำนวน 50 ราย
โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้ง 50 รายนี้ คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและให้ฝ่ายกฎหมายของธนาคารเตรียมเอกสารเพื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับบุคคลทั้ง 50 คน ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐที่ทำการทุจริตให้รัฐเกิดความเสียหาย
ส่วนการสอบสวนการปล่อยสินเชื่อทุจริตจำรวน 27 ราย ก่อนหน้านี้ ผู้กู้แต่ละรายได้ยื่นขอกู้วงเงินรายละประมาณ 100-300 ล้านบาท วงเงินรวม 2,150 ล้านบาท ซึ่งการสอบสวนการปล่อยสินเชื่อทุจริตจำนวน 27 ราย นี้ มี นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานตรวจสอบโดยผลการตรวจสอบเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีเจ้าหน้าที่ของธนาคารเกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อทุจริตกลุ่มนี้จำนวน 10 ราย
สำหรับการทุจริตสินเชื่อในกลุ่มนี้เอสเอ็มอีแบงก์ได้ดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อดำเนินคดีกับลูกหนี้กลุ่มนี้ไปบางส่วนแล้ว และธนาคารเองได้มีการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้ง 10 คนแล้ว ทั้งการหักเงินเดือน ภาคทัณฑ์ และไล่ออกไปด้วย โดยพนักงานบางคนเมื่อทราบว่าผลการสอบสวนมีรายชื่อของตนเองเกี่ยวข้องกับการทุจริตก็ชิงลาออก และธนาคารก็จะส่งรายชื่อไปยัง ป.ป.ช.เช่นกัน