xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์เล็งปรับเพิ่มอันดับเครดิตไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์ เรทติ้งประเมินว่าไทยยังมีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น A- จาก BBB+ เหตุได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แต่จีดีพีปีนี้จะโตต่ำกว่าปีก่อน ระบุยังมีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ภาคการบริโภค-ลงทุนยังขยายตัวในระดับที่ต่ำ รวมถึงความเสี่ยงทางด้านการเมืองที่มีความเชื่อมั่นลดลง

นายเจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการ ฟิทช์ เรทติ้ง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "Can Thailand Fund For Growth With Sustainable Rating" ว่า หากปัจจัยด้านเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีโอกาสที่อันดับเครดิตของประเทศไทยจะปรับขึ้นเป็น A- จากปัจจุบันประเทศไทยมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ BBB+ ซึ่งในระดับดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับกลางๆเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

สำหรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น มองว่าปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย ซึ่งปัจจุบันประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และเวียดนาม เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯในสัดส่วนที่มากกว่า 25% ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯคิดเป็น 10% อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศจีนค่อนข้างมากนั้น ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากประเทศจีนรับวัตถุดิบจากไทยเพื่อผลิตสินค้าส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ดังนั้น หากสหรัฐฯเกิดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ประเทศจีนก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในที่สุด

"ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคแล้วไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งในจุดนี้อาจจะทำให้มุมมองในอันดับเรทติ้งมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ แต่ก็จะต้องรอดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย"นายแมคคอร์แมคกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านการเมืองสูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันความน่าเชื่อถือทางการเมืองปรับตัวแย่ลง ความมั่นคงทางการเมือง กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงเรื่องคอร์รัปชั่นก็ปรับตัวในทิศทางแย่ลง มีเพียงประสิทธิภาพของการทำงานเท่านั้นที่ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่ออกมานั้น มาตรการการลดภาษีจะเป็นมาตรการที่เห็นผลเร็ว แต่เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง กว่าจะเห็นผล อย่างไรก็ตาม มองว่าการลดภาษีจะไม่ ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ เนื่องจากรายได้ด้านภาษีเติบโตดีกว่าจีดีพีอยู่แล้ว

นายแมคคอร์แมค กล่าวอีกว่า ฟิทช์คาดการณ์ว่าปี 2551 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยจะขยายตัว 4.7% ซึ่งลดลงจากปี 2550 ที่ขยายตัว 4.8% เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการบริโภคภายในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ การลงทุนภาคเอกชนแม้จะเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวแต่ก็อยู่ในระดับต่ำ ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มส่งสัญญาณว่าราคาปรับลดลงตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

ด้านค่าเงินบาทของไทยยังคงมีความเสี่ยงจากแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าซึ่งส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น และจะกระทบต่อภาคส่งออก กรณีนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่จะใช้มาตรการในการคจัดการอย่างไรกับเงินบาทที่แข็งค่า ทั้งนี้ มองว่าหากธปท.ไม่เข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท ค่าเงินบาทในปัจจุบันจะแข็งค่ามากกว่าที่เป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น