xs
xsm
sm
md
lg

ลดดอกเบี้ย- กระตุ้นบริโภค หนุนเศรษฐกิจฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้สรุปภาวะตลาดเงินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551 ธนาคารกลางของสหรัฐหรือ Fed ได้ทำการลดอัตราดอกเบี้ย Federal Funds Rate อีก 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 3.00% ต่อปีและลด Discount Rate ลง 0.50% มาอยู่ที่ 3.50% ต่อปี ก่อนหน้านี้ ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างละ 0.75% ทำให้ตั้งแต่ต้นปีนี้ Fed ได้ทำการลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว 1.25% และตัวเลขการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 0.6 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนซึ่งตลาดคาดดการณ์ไว้ที่ 1.2% แสดงถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐและเป็นไปได้สูงที่สหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งปัญหาหลักมาจากปัญหา Sub-prime ที่ลุกลามจนทำให้ภาคการเงินได้รับผลกระทบ และปัญหาดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะกระทบกันไปทั่วโลกไม่พ้นแม้แต่ประเทศไทย

ปัญหาที่เห็นได้ชัดหลังจากที่ Fed ได้ทำการลดดอกเบี้ยลงจนทำให้ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐหรือ Federal Funds Rate ได้ปรับลดลงมาต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันซึ่งอยู่ที่ 3.25% ต่อปีทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยและส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐ โดยอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ย ระหว่างธนาคาร ณ วันที่ 31 มกราคมเท่ากับ 33.027 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เทียบกับ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 อยู่ที่ 33.747 บาทต่อ 1 ดอลลาร์หรือเข็งค่าขึ้นมาประมาณ 2.18% ซึ่งภาคการส่งออกได้รับผลกระทบส่วนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะนอกจากเศรษฐกิจของสหรัฐที่ชะลอตัวลงทำให้การสั่งซื้อสินค้าลดลง การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ส่งผลให้ราคาสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลและ ธปท. จำเป็นต้องทำในขณะนี้คือการเร่งการบริโภคภายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อชดเชยกับการชะลอตัวของภาคส่งออก ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นการก่อสร้าง Infrastructure ต่างๆ การลดภาษี การส่งเสริมการลงทุน และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมทั้งการลดดอกเบี้ยซึ่งช่วยลดแรงกดดันในเรื่องของค่าเงินและช่วยกระตุ้นการบริโภคแต่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นการลดดอกเบี้ยมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพของระดับราคา

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะมีการปรับลดไปจนอยู่ที่ระดับ 1% - 2.5% ภายในสิ้นปีซึ่งถ้าทาง ธปท. ไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐจะอยู่ที่ 0.75% - 2.25% ดังนั้นเชื่อว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดการถดถอยและ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่ระดับประมาณ 2% จริง ทาง ธปท. ก็อาจจะจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่คงจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปมากเท่ากับทางสหรัฐฯ เนื่องจากจำเป็นต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็ไม่น่าที่จะอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเช่นสหรัฐฯ โดยตลาดตราสารหนี้ก็สะท้อนแนวคิดดังกล่าวโดยนับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุคงเหลือตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลงไปประมาณ 0.50% - 0.75%
กำลังโหลดความคิดเห็น