xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เผยดัชนีอุตฯ เดือน ก.พ.วูบ หลังต้นทุนพุ่ง-ออเดอร์หด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ก.พ.ดิ่งลงทุกระดับ รับผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายเชิงอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่ต้นทุนวัติถุดิบพุ่งไม่หยุด สินค้าหลายรายการ จำเป็นต้องปรับขึ้นราคา

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุถึงผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 636 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงมาอยู่ที่ระดับ 83.0 จาก 86.0 ในเดือน ม.ค.51

นายสันติ ระบุว่า การลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ก.พ.เป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก๊าซ แก้วและกระจก และหัตถอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเพราะผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ ปัญหาค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกของไทยต้องชะลอตัวลง

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นยังมีผลทำให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลง แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 99.9 ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ ณ เดือน ม.ค.2551 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มขึ้นสูง เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมีความชัดเจนในนโยบาย และเร่งการใช้มาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีการปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้วทั้ง 3 กลุ่ม โดยได้รับผลจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ลดลง และผลจากการที่ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นทำให้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของผู้ประกอบการค่อนข้างสูง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกปรับตัวลดลง โดยได้รับผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคเหนือทรงตัว สำหรับภาคใต้มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยได้ผลดีจากการปรับขึ้นของราคาสินค้า

นายสันติ กล่าวถึงผลสำรวจข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐควรเร่งการใช้จ่ายโดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์และเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง เร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคุมราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงเกินไป โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบสำหรับงานก่อสร้าง เพราะจะส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ของประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องควบคุมอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป ดูแลราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต เพิ่มมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น สนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน หรือมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดสภาพคล่อง เร่งมาตรการใช้พลังงานทดแทนในอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่แพงอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการส่งออกของสินค้าเกษตรให้มากขึ้น ลดภาษีการนำเข้าลง เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ

“ขณะนี้มีสัญญาณว่า สินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบ 3 รายการ คือ เหล็ก น้ำมัน และเม็ดพลาสติกอาจจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าอีก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบส่วนใหญ่ไม่ถูกควบคุม และการตรึงราคาสินค้าไว้นาน เป็นเรื่องลำบาก คาดว่าจะมีสินค้าบางรายการต้องขอขึ้นราคา โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตจากเหล็ก ซึ่งราคาปรับขึ้นชัดเจน จึงขอให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นความเชื่อมั่นการลงทุนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยเร็ว เพื่อให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น”

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เอกชนเชื่อมั่นว่าจะเห็นผลชัดเจนในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 โดยขณะนี้ยังรอขั้นตอนการปฏิบัติ แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการกังวลเรื่องราคาน้ำมันมาก สำหรับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐมีผลกระทบต่อทุกประเทศและเชื่อว่าไทยจะหาทางออกไปตลาดใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกล่าง ซึ่งมีกำลังซื้อสูง หากเจาะตลาดได้ ไทยจะรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและรถยนต์สามารถเจาะตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น