ดาวโจนส์ร่วงลงหนักกว่า 112.10 จุด หลังการประกาศตัวเลขว่งงานพุ่ง ขณะที่ตัวเลขจีดีพีอ่อนแอหนัก และแนวโน้มการล้มละลายของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลดอลลาร์เทียบเงินสกุลหลัก ทรุดหนักที่สุดในรอบ 10 ปี นักลงทุนเผ่นหนีความเสี่ยง หันเก็งกำไรน้ำมันและทองคำ ส่งผลราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุ 102 ดอลลาร์/บาเรล
วันนี้(28 ก.พ.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กของสหรัฐปิดร่วงลง 112.10 จุด หรือ 0.88% แตะระดับ 12,582.18 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 12.34 จุด หรือ 0.89% แตะระดับ 1,367.68 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดร่วงลง 22.21 จุด หรือ 0.94% แตะระดับ 2,331.57 จุด
นักวิเคราะห์ระบุว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลที่ตัวเลขชาวสหรัฐที่ขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น และความกังวลหลังจากที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจมีธนาคารพาณิชย์รายย่อยอีกหลายแห่งในสหรัฐล้มละลาย
โดยเมื่อคืนนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก มีปริมาณการซื้อขายประมาณ 1.46 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขชาวสหรัฐที่เข้าขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้ว พุ่งขึ้น 19,000 คน แตะระดับ 373,000 คน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.เป็นต้นมา
นายสก็อต เว็น นักวิเคราะห์จาเอจี เอ็ดเวิร์ด แอนด์ ซัน กล่าวว่า ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานปรับตัวขึ้นเกือบจะแตะระดับ 400,000 คนแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มถึง 50% ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ชัดเจนว่านายจ้างมีความระมัดระวังมากขึ้นในการจ้างงานใหม่"
ขณะที่นายฮิวจ์ จอห์นสัน หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทจอห์นสัน อิลลิงตัน แอดไวเซอร์ กล่าวว่า "ดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 100 จุดหลังจากปิดบวกแข็งแกร่งเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเบอร์นันเก้แถลงต่อสภาคองเกรสว่า แม้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์สินเชื่อ แต่มีธนาคารรายย่อยอีกหลายแห่งที่เสี่ยงจะล้มละลาย โดยนับตั้งแต่ฤดูร้อนที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์รายย่อยล้มละลายแล้ว 3 แห่ง เนื่องจากขาดทุนในตลาดปล่อยกู้จำนอง"
"การที่เบอร์นันเก้ประเมินว่าจะมีธนาคารพาณิชย์รายย่อยประสบปัญหาเพิ่มขึ้นอีกทำให้นักลงทุนวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจการธนาคารในสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนก็วิตกกังวลในเรื่องเหล่านี้มากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่าเบอร์นันเก้เป็นประธานเฟดที่ฉลาดที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น เพราะเขากล้ายอมรับว่าจะมีธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งที่ประสบปัญหา ซึ่งการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้จะทำให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมที่แท้จริง"
ทั้งนี้ เบอร์นันกี กล่าวต่อสภาคองเกรสสหรัฐว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปัญหาในตลาดปล่อยกู้จำนอง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง นอกจากนี้เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีแนวโน้มเผชิญภาวะ Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยแต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น)
หุ้นสปรินท์ เน็กซ์เทล คอร์ป ปิดร่วงลง 9.6% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 4 สูงถึง 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นธอร์นเบิร์ก มอร์ทเกจ ดิ่งลง 15.4%
ส่วนหุ้นเอ็มจี โกลบอล ร่วงลง 27.6% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขขาดทุน 141.5 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นเดลล์ อิงค์ ดิ่งลงกว่า 2% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
**ดอลลาร์ทรุดหนัก หลังจีดีพีอ่อนแอ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.5215 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพุธที่ 1.5120 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ทรงตัวที่ระดับ 0.8160 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.8160 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก เมื่อคืนนี้ เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลข "จีดีพี" ไตรมาส 4 ที่อ่อนแอเกินคาด ซึ่งสนับสนุนกระแสคาดการณ์ที่ว่า "เฟด" จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมเดือนหน้า
ทั้งนี้ ค่าเงินปอนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.9926 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9842 ดอลลาร์/ปอนด์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.9486 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9423 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับ 105.36 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 106.45 เยนต่อดอลลาร์
นักงิเคราะห์ เชื่อว่า เงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ตัวเลข "จีดีพี" ไตรมาส 4 ปี 2550 ขยายตัวขึ้นเพียง 0.6% หลังจากขยายตัวแข็งแกร่งที่ 4.9% ในไตรมาส 3 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัว 0.8% ส่วนจีดีพีตลอดปี 2550 ขยายตัวเพียง 2.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขชาวสหรัฐที่เข้าขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้ว พุ่งขึ้น 19,000 คน แตะระดับ 373,000 คน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.เป็นต้นมา
นายไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟ นิวยอร์ก กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงกว่า 100 จุด และทำให้กระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 18 มี.ค.นั้น มีน้ำหนักมากขึ้น
"ผมคาดว่าดอลลาร์สหรัฐจะยังคงอ่อนตัวลงจนกว่าจะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ หรือมีสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่จากข้อมูลที่เห็นก็ทำให้ประมาณการได้ล่วงหน้าว่า ดอลลาร์ยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพ"
ดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานฯ เฟด แถลงมุมมองด้านเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐว่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ซึ่งเฟดกำลังประเมินข้อมูลทุกๆด้านที่บ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ และจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ และเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการที่ใช้จะสามารถยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยได้
**ราคาน้ำมันพุ่งทำนิวไฮ 102.59 ดอลลาร์/บาเรล
สำนักข่าวเอพีรายงานอีกว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 2.95 ดอลลาร์ ปิดที่ 102.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดเพิ่มขึ้น 1.8 เซนต์ แตะระดับ 2.4957 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือน มี.ค.ปิดเพิ่มขึ้น 7.45 เซนต์ แตะระดับ 2.8456 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือน เม.ย.ปิดพุ่งขึ้น 2.63 ดอลลาร์ แตะระดับ 100.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 102 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงและความเป็นไปได้ที่ว่า "เฟด" จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกทำให้นักลงทุนกรูกันเข้าซื้อขายในตลาดน้ำมันอย่างคึกคัก
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนแห่กันเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างคับคั่งนับตั้งแต่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอ่อนแอลง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลข "จีดีพี" ไตรมาส 4 ขยายตัวขึ้นเพียง 0.6% ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ และกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขชาวสหรัฐที่เข้าขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้ว พุ่งขึ้น 19,000 คน แตะระดับ 373,000 คน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.เป็นต้นมา
นายฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากเอลารอน เทรดดิ้ง ในเมืองชิคาโก กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเช่นนี้ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง และทำให้นักลงทุนย้ายฐานการลงทุนออกจากปริวรรตเงินตราเพื่อเข้าไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนตัวผมมองว่าขณะนี้น้ำมันกำลังกลายเป็นเครื่องมือการลงทุนด้านการเงินไปแล้ว
ขณะที่นายจอห์น คิงส์ตัน นักวิเคราะห์จากบริษัทแพลทส์ กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังจับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 มี.ค.นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า โอเปกจะตรึงปริมาณการผลิตไว้เท่าเดิม
ส่วนข่าวความเคลื่อนไหวที่มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันได้แก่ข่าวที่ว่า สหรัฐได้แสดงความไม่พอใจที่ซีเรียส่งเรือรบยูเอสเอส โคลไปยังพื้นที่นอกชายฝั่งเลบานอนเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพในภูมิภาค และข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถดับไฟที่สถานีก๊าซแบคตันที่เชื่อมระหว่างอังกฤษ ยุโรป และแหล่งก๊าซในทะเลเหนือ ขณะที่บริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ออกแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทได้ปิดโรงงานที่เป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้แล้ว
โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ราคาน้ำมันร่วงลง 1.24 ดอลลาร์ แตะระดับ 99.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า น้ำมันดิบสำรองในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 22 ก.พ.พุ่งขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 308.5 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.4 ล้านบาร์เรล
ขณะที่น้ำมันเบนซินสำรองปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 232.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล
**ราคาทองคำพุ่ง นลท.ทิ้งหุ้น หันซื้อสินค้าโภคภัณฑ์
สำนักข่าวเอพี ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า สัญญาทองคำตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดที่ 967.50 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 6.50 ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 955.50-974.80 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดที่ 19.756 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 42.30 เซนต์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดที่ 3.8635 ดอลลาร์/ปอนด์ เพิ่มขึ้น 2.55 เซนต์ หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.8965 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนสัญญาพลาตินั่มส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดที่ 2,154.80 ดอลลาร์/ออนซ์ พุ่งขึ้น 2.50 ดอลลาร์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดที่ 590.25 ดอลลาร์/ออนซ์ ทะยานขึ้น 29.50 ดอลลาร์
สำหรับภาวะราคาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น เมื่อคืนนี้ ซึ่งในระหว่างวันนั้นราคาทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 102 ดอลลาร์/บาร์เรล และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงทำให้นักลงทุนจำนวนมากหันเข้าเทรดในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดโลหะมีค่า
นายไมเคิล กรอส นักวิเคราะห์จาก OptionSellers.com กล่าวว่า "ภาวะการซื้อขายในตลาดโลหะมีค่าคึกคักมาก นับตั้งแต่เบน เบอร์นันกี ประธานฯ เฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการส่งสัญญาณของเขาทำให้ดอลลาร์อ่อนตัวลง และมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดทองคำมากขึ้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงอย่างหนัก เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลข "จีดีพี" ไตรมาส 4 ปี 2550 ขยายตัวขึ้นเพียง 0.6% หลังจากขยายตัวแข็งแกร่งที่ 4.9% ในไตรมาส 3 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัว 0.8% ส่วนจีดีพีตลอดปี 2550 ขยายตัวเพียง 2.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545
**ดอลลาร์เทียบเยน ทรุดฮวบ
มีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนที่ตลาดปริวรรตเงินตราโตเกียวเช้าวันนี้ จากกระแสความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และจากถ้อยแถลงของประธานฯ เฟด ที่แสดงความเป็นห่วงต่อภาคธุรกิจธนาคาร
โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงต่ำสุดที่ระดับ 104.58 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.2548 ที่เคลื่อนไหวในระดับ 104.34 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินยูโรเคลื่อนไหวแตะที่ 1.5210 ดอลลาร์ต่อยูโรที่ตลาดโตเกียว
นายโยสุเกะ โฮโซกาว่า นักวิเคราะห์จาก Chuo Mitsui Trust & Banking กล่าวว่า ถ้อยแถลงของนายเบอร์นันกี ได้จุดกระแสความหวั่นวิตกต่อปัญหาในตลาดสินเชื่ออีกครั้ง หลังจากที่ความวิตกดังกล่าวเริ่มเบาบางลงจากการที่บริษัทประกันหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีขึ้น
"ยังไม่มีความชัดเจนว่าเฟดจะทำอย่างไรต่อไป แต่ตลาดมองว่าถ้อยแถลงของเขากำลังส่งสัญญาณว่าตลาดควรพร้อมรับมือกับการทรุดตัวของสถาบันการเงินบางแห่ง"
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ณ เวลา 07.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวที่ระดับ 104.70 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับระดับ 105.33-105.43 เยนต่อดอลลาร์ที่ตลาดนิวยอร์กคืนวานนี้ ขณะที่เงินยูโรเทรดกันที่ 1.5179 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับ 1.5190-1.5200 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังจากที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 1.5231 ดอลลาร์สหรัฐที่ตลาดนิวยอร์ก คืนวานนี้
**แบงก์ยักษ์ของสหรัฐ ส่อแววล้มระนาว
นายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินของสภาคองเกรสสหรัฐ เมื่อคืนนี้(ประมาณ 4 ทุ่มของไทย) โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้อยู่ในระยะ Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยแต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น) เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970
"ผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะ Stagflation แม้มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงและตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าการที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นนั้นทำให้การดำเนินงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อของเฟดมีความซับซ้อนมากขึ้น"
เบอร์นันกี กล่าวอีกว่า แม้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์สินเชื่อ แต่มีธนาคารอีกหลายแห่งที่เสี่ยงจะล้มละลาย โดยนับตั้งแต่ฤดูร้อนที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์ล้มละลายไปแล้ว 3 แห่ง เนื่องจากขาดทุนในตลาดปล่อยกู้จำนอง
"เรายอมรับว่ารู้สึกกังวลเรื่องความเสี่ยงทุกด้านที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ เราพยายามกระจายความเสี่ยงเหล่านี้ และคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมจะชะลอตัวลงสู่ระดับปานกลางในปีนี้และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ"
ทั้งนี้ เบอร์นันกี ยังระบุอีกว่า มาตรการที่ "เฟด" จะต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ "เฟด" ยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลง