xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นเช้ารูดทันทีเกือบ 17 จุด ดัชนีหลุด 800 คาดต่างชาติเผ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาวะหุ้นไทยเปิดตลาดเช้านี้ ดัชนีร่วงลงแรงทันทีกว่า 15 จุด หลังดาวโจนส์ปิดลบหนักกว่า 370 จุด เมื่อคืนนี้ คาดต่างชาติตกใจภาวะ ศก.สหรัฐฯ ทรุดหนักเกินการเยียวยาของเฟด นักลงทุนในสหรัฐฯ แห่ขายหุ้นและถอนหน่วยลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันต้องถอนเงินกลับไปอุดภาวะในประเทศตนเอง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าก็เป็นสิ่งจูงใจที่ต่างชาติต้องโยกเงินจากตลาดหุ้นออกไปฟันกำไร สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนเซ็ง รมต.แบ่งเค้ก นายกตัวจริงกับนายกเงา เริ่มปีนเกลียว

ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ (6 ก.พ.) ดัชนีภาคเช้าปรับลงทันที ตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดเช้านี้ร่วงแรงหลุด 800 จุดเป็นการปรับฐานต่อ โดยปรับลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงไปกว่า 370 จุด ต่ำสุดรอบครึ่งปี หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อคืนนี้ คือ ดัชนีภาคบริการเดือน ม.ค.51 ลดลงเป็นประวัติการณ์ เป็นการส่งสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน

โดยเมื่อเวลา 9.59 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 792.28 จุด ลดลง 15.40 จุด เปลี่ยนแปลง -1.91%

นักวิเคราะห์เผย ตลาดหุ้นไทยเช้านี้เปิดปรับลงทันที ลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่ยังเป็นอัตราที่ลงน้อยกว่า เพราะต่างประเทศลงประมาณ 3% แต่หุ้นไทยเปิดลง 1.91% เนื่องจากไทยเรามีปัจจัยบวกช่วยกระตุ้น คือ เรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ โดยเฉพาะมาตรการทางด้านของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ที่จัดตั้งทีมฉุกเฉินเข้ามาดูแลทันที

สำหรับปัจจัยการเมืองในประเทศ คงไม่มีประเด็นหนุนด้านการลงทุน เพราะมองโผทีมเศรษฐกิจรายชื่อแต่ละคนที่ออกมาแล้ว คงไม่เข้ามาช่วยแก้ไขอะไรได้มากนัก โดยทราบมาว่า นักลงทุนต่างชาติหลายแห่ง ได้ตัดทิ้งการให้น้ำหนักการลงทุนตรงนี้ไปแล้ว ด้านการเมืองจึงประเมินให้มีผลในเชิงลบ เพราะรัฐบาลอาจเข้าสู่กระบวนการซ้ำซาก 19 ก.ย.49 ล่าสุด กระแสข่าวลือการปีนเกลียวระหว่างนายกนอมินี และนายกตัวจริงในต่างประเทศ อาจทำให้ขาดเสถียรภาพ ทั้งที่ยังไม่ทันได้รับโปรดเกล้าฯ ก็เห็นเค้าลางความแตกแยกแล้ว

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยคงจะลง ซึ่งอาจได้เห็น new low รอบนี้กองทุนขายไปแล้ว แม้ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อ โดยแนะให้จับตา หากตลาดลงมาแถว 780 หรือ 775 จุด อาจได้เห็นอะไรที่น่ากลัว

ปัจจัยหลักก็คือดาวโจนส์ลดลง หลังจากสำนักงานจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ไอเอสเอ็ม) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ในเดือน ม.ค. ร่วงลงสู่ระดับ 41.9 จุด ซึ่งเป็นการร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2546 และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนักเพื่อลดความเสี่ยง และประชาชนก็แห่ถอนหน่วยลงทุน ส่งผลให้วันนี้ นักลงทุนต่างชาติ อาจต้องขายหุ้นย่านเอเชีย เพื่อนำเงินกลับไปอุดภาวะของประเทศตนเอง

**ดาวโจนส์ร่วง 370 จุด สะท้อนความอ่อนแอ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อคืนนี้ ปิดตลาดร่วงลง 370.03 จุด หรือ 2.93% แตะที่ระดับ 12,265.13 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 44.18 จุด หรือ 3.20% แตะที่ระดับ 1,336.64 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดรูดลง 73.28 จุด หรือ 3.08% แตะระดับ 2,309.57 จุด

สำหรับปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 4.18 พันล้านหุ้น ลดลงจากวันจันทร์ที่ 4.51 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 4 ต่อ 1

นายทอดด์ ซาลาโมน นักวิเคราะห์จากแชฟเฟอร์ อินเวสต์เมนต์ รีเสิร์ช กล่าวว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กผันผวนอย่างหนัก เมื่อสำนักงานจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ไอเอสเอ็ม) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ในเดือน ม.ค. ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 จุด และเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2546 ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วกว่าที่คิด

ก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับปัจจัยลบอยู่แล้วจากรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือน ม.ค.ลดลง 17,000 ตำแหน่ง นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง และสวนทางกับตัวเลขจ้างงานเดือน ธ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 82,000 ตำแหน่ง

“แม้มีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น นักลงทุนมองว่าการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งติดต่อกันย่อมสะท้อนถึงภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจด้วย” นายซาลาโมนกล่าว

ด้าน นายเบอร์นาร์ด โบโมห์ล นักวิเคราะห์จาอิโคโนมิก เอาต์ลุค กล่าวว่า ดัชนีภาคบริการที่อ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดถือเป็นสัญญาณอันตราย เพราะสะท้อนให้เห็นว่าชาวอเมริกันจำนวนมากชะลอการใช้จ่ายด้านบริการลงอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และการขนส่ง

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหนักสุด โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ปปิดร่วงลง 7.4% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ดิ่งลง 5% หุ้นวอชิงตัน มิวชวล รูดลง 5.6% หุ้นแบงก์ออฟอเมริกัน ร่วงลง 3.8% และหุ้นธนาคารวาโชเวียร่วงลง 3.8%

ผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ รายงานว่า นายเจฟฟรีย์ แลกเกอร์ ประธานเฟด สาขาริชมอนด์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยปานกลาง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกอาจมีความจำเป็น

โดยรายงานข่าวบนเว็บไซต์บลูมเบิร์ก ดอตคอม ระบุว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจทำให้เฟดจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยอีก ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีความจำเป็น

“การคาดการณ์ของผมที่ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอตัวในปีนี้ เป็นการประเมินที่สำคัญตามความคิดของผมเกี่ยวกับนโยบายการเงินเมื่อเดือนที่ผ่านมา ถ้าข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้าที่กำลังจะเปิดเผยไม่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่” นายเจฟฟรีย์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย

**ดอลลาร์แข็ง เทียบเงินสกุลหลัก

ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก เมื่อคืนนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน แม้สหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีก็ตาม

สำนักข่าวเอพี รายงานเพิ่มเติมว่า ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.4652 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.4823 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.9639 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากระดับ 1.9737 ดอลลาร์ต่อปอนด์ และค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 106.92 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 106.75 เยนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.0994 ฟรังซ์สวิสต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.0882 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์ และแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.0079 ดอลลาร์แคนาดาต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 99.35 เซนต์แคนาดาต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายไมเคิล วูลฟอล์ก นักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟนิวยอร์ก กล่าวว่า ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงและตลาดหุ้นซบเซาลงนั้น นักลงทุนอาจมองว่าสกุลเงินดอลลาร์เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยในการลงทุน ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ทำให้เกิดส่วนต่างในการเก็งกำไร นักลงทุนบางส่วนมีการโยกเงินจากตลาดหุ้น เข้ามากินส่วนต่างระยะสั้นในตลาดการเงิน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งจะประชุมในวันเดียวกัน คือ วันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) โดยขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของยุโรปยืนอยู่ที่ระดับ 4% และอังกฤษอยู่ที่ระดับ 5.5% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐที่ระดับ 3%

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.34 น..ดัชนีอยู่ที่ระดับ 790.87 จุด ลดลง 16.81 จุด เปลี่ยนแปลง -1.82% มูลค่าการซื้อขาย 4,169.23 ล้านบาท

ล่าสุด เมื่อเวลา 11.02 น. ดัชนีอยู่ที่ระดับ 789.89 จุด ลดลง 17.79 จุด มูลค่าการซื้อขาย 5,860.55 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น