xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงจากภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2551

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมในปีที่แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2551 อย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะทัศนะจากบทวิเคราะห์ของหน่วยงานเอกชนด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจในระดับชั้นนำของโลก กล่าวคือ แต่เดิมหน่วยงานเอกชนดังกล่าวส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มจะชะลอตัวนั้นจะไม่ส่งผลกระทบในระดับสูงต่อเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆของโลกโดยเฉพาะเอเชีย มุมมองดังกล่าวนี้รู้จักในชื่อว่า “Decoupling” แต่ทว่าตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นต้นมามุมมองดังกล่าวนี้ได้เปลี่ยนเป็นมุมมองที่เรียกว่า “Recoupling” ซึ่งมีความหมายว่า การตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและส่งผลสะเทือนไปยังเศรษฐกิจโลกโดยรวม

การเปลี่ยนการคาดการณ์นั้นมีที่มาจากหลายสาเหตุ อาทิ วิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำในสหรัฐฯ (Subprime) ได้ส่งผลสะเทือนต่อภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ค่อนข้างมากและส่งผลสืบเนื่องไปยังตลาดการเงินทั่วโลกให้มีความเสี่ยงในระดับสูงที่จะเกิดปัญหาสภาวะสินเชื่อตึงตัว (Global Credit Crunch) ดังจะเห็นจากปฏิกิริยาของธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกที่พยายามแทรกแซงตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องโดยการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าไปในระบบแก่สถาบันการเงินมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วถีบตัวทะยานขึ้นไปในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่ง ทั้งนี้ความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศในปี 2551 สามารถแจกแจงได้ดังนี้

ประการที่ 1 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังจะเห็นจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานซึ่งมีอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี รวมทั้งอัตราการว่างงานถีบตัวสูงขึ้นไปถึง 5% เป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 2 ปี และตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นการลดลงที่ต่ำสุดตั้งแต่กลางปี 2546 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ ล่าสุดได้ยืนยันถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอนแล้ว ปัญหาที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจจะขบคิดกันต่อคือ การรับมือของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และรัฐบาลสหรัฐฯ จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ให้ทุเลาลงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลเพียงใด

แม้ว่า ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะลดความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม แต่ ณ ปัจจุบัน ขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังมีสัดส่วนสูงถึงประมาณหนึ่งในสี่ของเศรษฐกิจโลกและยังเป็นชาติผู้นำเข้ารายสำคัญของโลกโดยนำเข้าประมาณหนึ่งในห้าของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อประเทศที่เหลือในโลกโดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ มียอดประมาณ 15% ของการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ยังมีการส่งออกของไทยในรูปของสินค้าขั้นกลางไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อแปรสภาพเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งไปยังสหรัฐฯ โดยในส่วนการส่งออกสินค้าขั้นกลางนี้ ยังไม่มีผู้ใดประเมินได้ว่าสินค้าขั้นกลางดังกล่าวของไทยที่ส่งไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อแปรสภาพเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่ม ASEAN ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ จีน นั้นมีปริมาณเท่าใด เนื่องจากความซับซ้อนของเครือข่ายการผลิตโลก (Global Supply Chain) ที่แบ่งขั้นตอนการผลิตสินค้าออกเป็นส่วนๆ และกระจายไปยังประเทศต่างๆ ทำให้ยากที่จะประเมินหาจำนวนการส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยในลักษณะนี้ได้

ประการที่ 2 ตลาดการเงินโลกอาจจะประสบความผันผวน อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำในสหรัฐฯ (Subprime) ซึ่งปัญหานี้ไม่เพียงแต่ส่งผลไปยังสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ปล่อยกู้แก่ลูกหนี้ประเภทนี้อาจจะประสบปัญหาหนี้เสียหากแต่ปัญหาสำคัญที่กระทบต่อสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯและนอกสหรัฐฯ คือปัญหาจากการลงทุนในตราสารทางการเงินที่อิงกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime) ซึ่งกำลังประสบปัญหาไม่สามารถระบุมูลค่าที่แท้จริงได้รวมทั้งการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้ซึ่งนำไปสู่การตัดจ่ายเงินลงทุน (Write-off) และปัญหาหนี้เสีย (Credit loss) ของสถาบันการเงินจำนวนมากทั่วโลก

สำนักข่าว Bloomberg ได้ประเมินว่าเฉพาะในปีที่แล้ว ความสูญเสียจากปัญหา Subprime มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.31 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันปัญหา Subprime ที่กระทบต่อภาคการเงินยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุด ทั้งนี้องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ประเมินว่า ความเสียหายจากปัญหา Subprime อาจสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปัญหา Subprime ทั้งในด้านการตัดจ่ายเงินลงทุน (Write-off) และปัญหาหนี้เสีย (Credit loss) นำไปสู่การลดมูลค่าเงินทุนของสถาบันการเงินส่งผลให้เงินกองทุนลดลงและส่งผลต่อเนื่องไปยังความสามารถในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินให้ลดลง ถ้าเงินกองทุนของสถาบันการเงินลดลงอย่างรวดเร็วและธนาคารกลางไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันและอัดฉีดปริมาณเงินที่มากพออาจจะนำไปสู่ภาวะสินเชื่อตึงตัวได้ (Credit Crunch) ดังที่กล่าวในข้างต้นว่าสถาบันการเงินที่พัวพันในปัญหา Subprime มิใช่มีเฉพาะแต่สถาบันการเงินของสหรัฐฯ เท่านั้นหากแต่มีสถาบันการเงินในประเทศอื่นๆ ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว ถ้าขนาดของความเสียหายขยายตัวอย่างต่อเนื่องและธนาคารกลางประเทศต่างๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันและอัดฉีดปริมาณเงินที่มากพอ ผลก็คือ ปัญหา Subprime ในสหรัฐฯ จะนำไปสู่ภาวะสินเชื่อโลกตึงตัว (Global Credit Crunch)

ภาวะสินเชื่อโลกตึงตัว จะนำไปสู่ปัญหาความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้มีอัตราสูงขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาการขาดแคลนปริมาณเงิน รวมทั้งเพื่อให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนต่อไป แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เรียกร้องให้อัตราดอกเบี้ยต้องลดลงเพื่อยับยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะความถดถอยยังส่งผลโดยตรงให้ค่าเงินสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณเงินที่ลงทุนในสหรัฐฯไหลออกไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ที่แนวโน้มค่าเงินประเทศนั้นๆ (โดยมากเป็นประเทศในแถบเอเชีย) แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสหรัฐฯ

กล่าวได้ว่า ในปี 2551 ทั้งปัญหาสินเชื่อโลกตึงตัว (Global Credit Crunch) การไหลเข้า-ออกของเงินทุนอาจจะสร้างความผันผวนให้กับอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ของประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่มีโครงสร้างทางการเงินที่ไม่แข็งแรงพอ

ประการสุดท้าย การกลับมาของยุคเงินเฟ้อสูง การที่ภาวะราคาน้ำมันโลกในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ทะยานขึ้นสูงเกือบเป็นประวัติการณ์และยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ราคาน้ำมัน (WTI) ปรับสูงขึ้นไปถึง 52% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2549 ภาวะราคาน้ำมันที่ถีบตัวขึ้นไปในระดับสูงนี้อาจจะคงอยู่เป็นเวลานานและคงจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็นราคาน้ำมันปรับลงไปต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล เพราะราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นในครั้งนี้มาจากความตึงตัวด้านอุปทานน้ำมันและการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่มีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลก

แม้ว่าในปี 2551 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกปรับลดลง แต่ความตึงตัวจากอุปทานการผลิตน้ำมันและการขยายตัวของอุปสงค์จากประเทศอื่น จะส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าราคาน้ำมัน (WTI) เฉลี่ยในปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 85 เหรียญต่อบาร์เรล

ภาวะราคาน้ำมันโลกทรงตัวในระดับสูงส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนการบริโภคน้ำมันต่อระดับรายได้ประชาชาติ (GDP) ในระดับสูง และส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นและในที่สุดอัตราเงินเฟ้อต้องปรับสูงขึ้นไป ซึ่งการปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นการบั่นทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศและถ้าภาวะอัตราเงินเฟ้อปรับสูงอย่างต่อเนื่องหรือทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้อุปสงค์รวมของประเทศปรับลดลงและนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

กล่าวโดยสรุป ปี 2551เป็นปีที่ปัจจัยจากต่างประเทศที่เคยเป็นบวกต่อประเทศไทยในปีที่แล้วเช่นการขยายตัวของการส่งออกกลับมีแนวโน้มลดลงหรือเป็นปัจจัยลบ ในขณะที่ปัจจัยที่เป็นลบต่อประเทศไทย อาทิ ความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าและราคาน้ำมันกลับมีแนวโน้มเป็นลบมากกว่าเดิม แม้จะเป็นเช่นนั้นแต่เมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤติ 2540 ที่ประเทศไทยเคยเผชิญมาเมื่อสิบปีที่แล้วจะเห็นได้ว่าปัญหาที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญในปีนี้ ยังไม่เลวร้ายไปถึงระดับเดียวกับปี 2540 และปี 2541 ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงอยู่ที่ -1.4% และ -11% ตามลำดับ ผลกระทบมากที่สุดที่ประเทศไทยจะเผชิญในปีนี้คือ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราต่ำคือประมาณ 3-4 % เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ควรจะเป็นในอัตรา 5-6 % แต่ที่สำคัญกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนซึ่งการว่างงานในปีนี้จะปรับเพิ่มสูงขึ้นและภาวะการครองชีพของประชาชนไทยจะประสบกับความลำบากเมื่อเทียบกับสองถึงสามปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น