xs
xsm
sm
md
lg

เงินบาทเปิดตลาดปี 51 แข็งค่าแตะ 33.58 แบงก์คาดส่งออกฯ เทขายดอลลาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เงินบาทเปิดตลาด 33.58/64 แข็งค่าขึ้น นักค้าเงินคาด ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์สหรัฐ เป็นเหตุการณ์ปรกติช่วงปีใหม่ แนวโน้มช่วงบ่าย น่าจะทรงตัวได้ ด้านผู้ประกอบการส่งออก ชี้ปัจจัยเสี่ยงอื้อ ทั้งกำลังซื้อตลาดหลักฯ หดตัว ค่าเงินดออลลาร์ผันผวน และผลกระทบราคาน้ำมัน

วันนี้(2 ม.ค.) นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงภาวะค่าเงินบาทปี 2551 เปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 33.58/64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาจากเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.50 ซึ่งเงินบาทปิดที่ 33.70/73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าเป็นผลจากผู้ส่งออก มีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐออกมา

"วันนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก ราคาปิดของปลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นแรงเทขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก เป็นไปตามปกติของทุกๆ ปี ช่วงปีใหม่ก็จะเป็นอย่างนี้" นักบริหารเงิน กล่าว

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า เงินบาทช่วงบ่ายน่าจะทรงตัวได้ และเชื่อว่าไม่น่าหลุด 33.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่น่าเกิน 33.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเงินยูโรและเงินเยนปรับค่าอ่อนตัวเล็กน้อย เกิดจาก carry trade โดยช่วงเช้าเงินเยน เปิดที่ 111.70 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ และเงินยูโร เปิดที่ 1.4000 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร

ก่อนหน้านี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ค่าเงินบาทในประเทศ (Onshore) ในสัปดาห์แรกของปี 51 (2-4 ม.ค.51) อาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.55-33.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังเทศกาลปีใหม่

ปัจจัยที่ควรจับตาได้แก่ แรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ของผู้ส่งออก การเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติและสัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของธปท. ตลอดจนทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เดือนธันวาคม ยอดขายบ้านมือสอง รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อสินค้าของโรงงาน เดือนพฤศจิกายน และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.50

ทั้งนี้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทในประเทศปรับตัวอย่างผันผวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลง (แตะระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยถูกกดดันจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเป็นการแทรกแซงของธปท. ขณะที่ นักลงทุนรอความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไป

อย่างไรก็ตาม เงินบาทฟื้นตัวขึ้นและลดช่วงติดลบทั้งหมดลงในวันทำการสุดท้ายของปี โดยได้รับแรงหนุนจากแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ จากผู้ส่งออก ในวันศุกร์ เงินบาทปรับตัวที่ระดับประมาณ 33.67 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ธ.ค.) อนึ่ง เงินบาทในประเทศแข็งค่าขึ้นร้อยละ 7.2 ในปี 50

ทั้งนี้ ผลสำรวจผลประกอบการส่งออก ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ช่วงปี 2550 พบปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างรุมเร้าผู้ประกอบการ ทั้งค่าเงินบาท ราคาวัตถุดิบและต้นทุนขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายๆ บริษัทมีรายได้ลดลงซึ่งจะเห็นได้จากผลประกอบการในช่วง 9 เดือนของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่สำคัญธุรกิจเกษตรเป็นธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเกือบ 100% ดังนั้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าตลอดปี 2550 ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก

มีข้อมูลระบุว่าผลประกอบการของ 10 บริษัทธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในตลาดหลักทรัพย์ช่วง 9 เดือนของปี 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ส่วนใหญ่รายได้หลายๆ บริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่ผลกำไรลดลง เหตุผลสำคัญเกิดจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากตลอดปี 2550 ขณะเดียวกันปีที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่หลายๆ รายอยู่ในช่วงขยายธุรกิจ ส่งผลให้กำไรของการดำเนินการลดลง

นายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัทรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบการบริหารของบริษัทหลายอย่าง เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท บริษัทพยายามติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และมีการซื้อประกันค่าเงินบาทไว้เหมือนกับที่หลายบริษัทดำเนินการ แต่วิธีการนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

บริษัทไม่สามารถซื้อประกันตลอดปีได้ การซื้อประกันค่าเงินก็ไม่ได้ช่วยต้นทุนดำเนินการ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันบางอย่างก็ต้องพึ่งการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น ระบบสาธารณูปโภค กฎหมาย

หลายบริษัทจะมีวิธีการบริหารจัดการกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันไปบ้าง เพราะข้อมูลข่าวสารที่แต่ละบริษัทมีไม่เหมือนกัน บางบริษัทอาจมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อขาย ด้วยเงินหลายสกุลมากขึ้น ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ถือว่ากระทบกับรายได้บริษัทมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่านี้

นายสุรพล กล่าวว่า ยังมีปัจจัยจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น แป้งสาลี ขณะที่วัตถุดิบหลักอื่น เช่น กุ้ง ปีที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเรื่องราคาผันผวน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ก็มีส่วนทำให้ต้นทุนพลังงานของบริษัทเพิ่มขึ้น แต่เราก็พยายามหาวิธีจัดการกับปัญหาเพื่อลดผลกระทบ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเมื่อเราเห็นแนวโน้มราคาพลังงานจะเพิ่มสูงขึ้น จึงได้เริ่มเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ดีขึ้น และได้ปรับการบริหารจัดการในส่วนที่ลดต้นทุนดำเนินการได้ลงเท่าที่ทำได้

รายได้ของบริษัทในรอบ 9 เดือนของปี 2550 ไม่ถึงกับแย่ เมื่อพิจารณารายได้รวมของปี 2550 โดยในรูปเงินบาทลดลงเล็กน้อย เพราะปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่รายได้ในรูปเงินดอลลาร์ต่างประเทศเชื่อว่าไม่ลดลง เชื่อว่ายอดขายปี 2551 จะดีขึ้นกว่าปีนี้เฉลี่ยสินค้าทุกประเภทประมาณ 10%

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จากตัวเลขยอดขายในช่วง 9 เดือนของปี 2550 อยู่ที่ 99,354 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,127 ล้านบาท กำไรที่ได้ไม่มากนักนั้น เพราะมีปัจจัยจากภาวะสินค้าที่ล้นตลาด ทำให้ราคาสินค้าเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ในช่วงต้นปีมีราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

ประกอบกับข้าวโพดอาหารสัตว์ ถั่วเหลือง ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ มีการปรับราคาสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซล พลังงานทดแทนน้ำมัน ขณะที่กำลังซื้อในประเทศค่อนข้างซบเซา ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นด้วย

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีพีเอฟ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่ายอดขายทั้งปีของซีพีเอฟน่าจะอยู่ที่ 135,000 ล้านบาท เป็นการเติบโตตามเป้าหมายที่ 10% จากปี 2549 ซึ่งเป็นสัดส่วนของยอดขายที่มาจากการส่งออกประมาณ 18% และจากกิจการที่ลงทุนในต่างประเทศประมาณ 18% ที่เหลือก็เป็นยอดขายในประเทศประมาณ 64% สำหรับการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น น่าจะไม่น้อยกว่า 50%ของกำไรสุทธิ

กลยุทธ์หลักของซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้าในการสร้างตราสินค้า "CP" และความปลอดภัยของอาหาร สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน พร้อมกับออกสินค้าอาหารพร้อมรับประทานหลากหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของซีพีเอฟ โดยเฉพาะสินค้าไก่ปรุงสุก ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งในประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดล่าสุดอย่างตะวันออกกลาง

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ เป็นอีกกลยุทธ์ในการปรับวิกฤติให้เป็นโอกาสของซีพีเอฟ โดยขยายการลงทุนไปในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ส่งผลดีกลับมาช่วยเสริมศักยภาพให้กับบริษัท โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตดี คือ รัสเซีย อินเดีย และเวียดนาม หรือประเทศใหม่ๆ ที่ซีพีเอฟได้เข้าไปลงทุน เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ เป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้ซีพีเอฟเติบโตมากขึ้น ขณะที่ประเทศตุรกีก็มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป รายได้ที่มาจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 18% ไปอยู่ที่ 20-25 % ส่วนรายได้จากการส่งออก อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 20-25 % เช่นกัน ดังนั้นรายได้จากนอกประเทศกับในประเทศน่าจะอยู่ที่ 50:50 ในอนาคต

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาลี สามพราน จำกัด(มหาชน) กล่าวว่ารายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 อยู่ที่ 2,951 ล้านบาท ลดลง 2.4% โดยรายได้ที่ลดลงมาจากการส่งออกผลไม้แปรรูป ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะลดการส่งออกลง เพราะการที่เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบให้การแปลงรายได้จากการส่งออกมาเป็นเงินบาทมีมูลค่าลดลง ถ้ายิ่งส่งออกมากก็จะทำให้ขาดทุนมากขึ้น และในปีนี้บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศที่สูงขึ้นด้วย

เมื่อเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะทำให้บริษัทลดการส่งออกลง โดยปี 2551 บริษัทคาดว่าจะลดสัดส่วนการส่งออกให้เหลือ 40%ของผลิตภัณฑ์รวม แต่จะหันมาเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากปี 2550 บริษัทส่งออกถึง 60% ที่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การเพิ่มตลาดภายใน บริษัทเชื่อว่าจะทำได้ดีเพราะเรามีตลาดอยู่แล้ว

นายฉัตรชัย กล่าวว่า การที่สินค้าของบริษัทใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก จำต้องปรับแผนการตลาดใหม่ โดยธุรกิจอาหารแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ทำให้การส่งออกมีรายได้ไม่ดีมากนัก ต่างจากผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า ที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ามากนัก

การดำเนินธุรกิจในปี 2550 บริษัทมีภาระเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิต เช่น การขนส่ง น้ำมัน ค่าแรงงาน ราคาผลไม้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ฯลฯ ทำให้บริษัทต้องหาทางบริหารจัดการกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยปรับระบบการจัดการส่วนต่างๆ ให้มีความกระชับ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดต้นทุน เช่น การจัดระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลในปี 2551 ในภาพรวมแล้วต้นทุนการผลิตปี 2550 สูงกว่าปี 2549 บริษัทเชื่อว่าเมื่อมีการปรับปรุงการบริหารจัดการแล้ว จะทำให้ต้นทุนการผลิตปี 2551 ลดลงจากปี 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น