xs
xsm
sm
md
lg

คลังล้วงกึ๋นแบงก์ชาติ ส่งสัญญาณหั่น ดบ.0.5% พร้อมเก็บภาษีทุนไหลออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังแนะ ธปท.ลดดอกเบี้ย 0.5% ลดแรงกดดันเงินทุนไหลเข้าออกเร็ว พร้อมเสนอเก็บภาษีเงินทุนไหลออกทดแทน หากโดนใบสั่งให้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% “สมชัย” ยังแบ่งรับแบ่งสู้ประเด็น Exit Tax ชี้สาเหตุการใช้ยางแรง 30% เป็นการคาดการณ์สาเหตุบาทแข็งที่ผิดพลาด

วันนี้ (11 ก.พ.) มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าในการแก้ปัญหาผลกระทบจากเงินทุนไหลเข้าออกเร็ว โดยระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอความเห็นต่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันนี้ ทั้งเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย และการกำกับดูแลค่าเงินบาท รวมไปถึงแนวทางการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงิน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงผลการการหารือกับ นพ.สุรพงษ์ รมว.คลัง เช้าวันนี้ ระบุว่า สศค.ได้เสนอแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ทดแทน หากมีการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น พร้อมชี้ว่า สาเหตุของการใช้มาตรการดังกล่าว เป็นการคาดการณ์สาเหตุบาทแข็งที่ผิดพลาด

สำหรับมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การปรับลดดอกเบี้ยในประเทศลงเพื่อให้ส่วนต่างกับดอกเบี้ยต่างประเทศลดน้อยลง ส่วนจะลดลงเท่าใดนั้นคงจะต้องมีการหารือในรายละเอียดก่อน และยืนยันว่า รัฐบาลอาจจะไม่ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีขาออกเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ (Exit Tax)

“ยกเลิกมาตรา 30% คาดว่า น่าจะมีแน่นอน แต่หากยกเลิกทันทีจะมีผลกระทบ เพราะดอกเบี้ยของไทยยังสูงกว่าต่างประเทศ จะทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้ามามาก และในที่สุดจะทำให้เงินบาทแข็ง ซึ่งน่าเป็นห่วง...หากจะยกเลิก 30% ก็ต้องลดดอกเบี้ยด้วย”

นอกจากนั้น หากยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ก็ควรจะมีมาตรการเสริมในลักษณะของมาตรการบูรณาการ โดยจะใช้เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบจาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อผู้ฝากเงิน, ข้าราชการเกษียณอายุ ตลอดจนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการส่งเสริมให้มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น

ส่วนที่มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการปรับลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในประเทศเกิดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่การใช้จ่ายของประชาชนมีอัตราชะลอตัวลง ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ จึงทำให้มีช่องที่สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกันทั้งหมดด้วย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ ได้สั่งการให้ สศค.รวบรวมข้อมูล และเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการกันสำรอง 30% นโยบายอัตราดอกเบี้ย นโยบายการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ และมาตรการภาษีที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น สศค.ได้นำรายงานและความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว เสนอต่อ นพ.สุรพงษ์ แล้วตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าวันนี้

สำหรับในส่วนของการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน สศค.จะเสนอให้กำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าในแต่ละปีค่าเงินบาทสามารถแข็งค่าได้เท่าใด เช่น ประเทศจีน ที่มีการกำหนดว่าค่าเงินหยวนสามารถแข็งค่าขึ้นได้ 15% ต่อปี

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ได้เสนอให้ปรับลดลงอีก 0.5% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 3.25% เนื่องจากมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นมานาน

“ควรจะบริหารนโยบายดอกเบี้ยตามทฤษฎีความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยหากอัตราเงินเฟ้อต่ำก็สามารถลดดอกเบี้ยได้ และหากไม่ต้องการให้เงินทุนไหลเข้า ก็ควรที่จะลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าประเทศอื่น”

ด้านมาตรการกันสำรอง 30% สศค.ได้เสนอให้ยกเลิก เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีการใช้มาตรการ 30% ก็ไม่ได้ช่วยให้เงินทุนไหลเข้ามาน้อยลง ค่าเงินบาทก็ยังคงแข็งค่า ทำให้ค่าเงินบาท 2 ตลาด เกิดความแตกต่างกัน ผู้ส่งออกถือเงินเหรียญสหรัฐฯระยะสั้น และขายออกมากขึ้น โดยหลังจากยกเลิกมาตรการ 30% ก็จะเสนอให้ใช้มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลออกที่นำเข้ามาไม่ถึง 1 ปี ในอัตรา 5-10% ของกำไร

นอกจากนี้ สศค.ยังจะเสนอความเห็นเรื่องการตั้งงบประมาณกลางปี ควรไปใช่ต่อยอดในโครงการกองทุนหมู่บ้าน ให้เป็นธนาคารประชาชน และโครงการเอสเอ็มแอล ซึ่งเป็นเรื่องที่ สศค.ได้คิดมาก่อนหน้านี้

สำหรับมาตรการภาษีจะมีการเสนอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายหักภาษีจาก 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท ทำให้คนมีรายได้น้อยไม่ถึง 2 หมื่นบาทต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษี รวมทั้งจะเสนอให้มีการแยกยื่นภาษีระหว่างสามีภรรยา ซึ่งจะทำให้มีการเสียภาษีน้อยลง โดยมาตรการภาษีดังกล่าวเป็นแผนที่ กรมสรรพากร เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ไว้แล้ว

ดร.พิชิต อัครทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุน กล่าวว่า หากรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ก็ควรหามาตรการอื่นมาทดแทน มิเช่นนั้นจะเกิดการเก็งกำไรอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น