ครม.เงา เตรียมเสนอวาระ 99 วัน ต่อ ครม.หมัก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเร่งด่วน พร้อมแจกงาน รมต.เตรียมเดินหน้าตรวจสอบรัฐบาล ด้าน กรณ์ ระบุ จะเลิกมาตรการ 30% ต้องชี้แจงได้ชัด
วันนี้ (11 ก.พ.) คณะรัฐมนตรีเงาของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเงา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีรัฐมนตรีเงาทั้งคณะเข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง โดยใช้ประชุมกว่า 3 ชั่วโมง
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้แถลงว่า การประชุมนัดแรกเพื่อเป็นการกำหนดแนวทางการทำงานของฝ่ายค้านให้เป็นไปอย่างมีระบบมีความครอบคลุม รวมทั้งทำให้การเมืองมีพัฒนาการ นอกจากนี้ ประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการทำงานที่จริงจังของทุกฝ่าย ซึ่งยืนยันว่า การทำงานของ ครม.เงาไม่เหมือนกับการทำงานของ ครม.จริง โดยจะทำหน้าที่เฉพาะตรวจสอบติดตามและเสนอแนะการทำงานเท่านั้น และจะไม่มีปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะการทำงานของกรรมาธิการ เนื่องจากเป็นกลไกของสภา และ ส.ว.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการให้ทุกคนรับข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในเบื้องต้น คือ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 โดยจำแนกเป็นรายกระทรวง รายจังหวัด เพื่อให้ติดตามผลงานต่างๆ ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ทำไว้ รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ นอกจากนี้ ยังมีการแจกรายชื่อกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดูว่ามีร่างใดที่พรรคเห็นว่าควรจะผลักดันต่อไป หรือไม่ควรสานต่อไป เพื่อประโยชน์ในการกำหนดจุดยืนของพรรค
นายกรัฐมนตรีเงา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางการทำงานเบื้องต้น โดยจะมีการประชุมทุกวันพฤหัสบดี เวลา 08.30-11.00 น.ก่อนที่จะไปร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยจะมีการหยิบยกปัญหาเร่งด่วนของบ้านเมืองเพื่อหาแนวทางเสนอแนะรัฐบาล รวมทั้งผลพวงจากปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินและการประชุมครม.ในแต่ละนัด อีกทั้งเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเป็นพิเศษ คือ พรรคจะมีการเสนอนโยบายค่าครองชีพ 99 วันต่อรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ 1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.การพัฒนาการศึกษาของประเทศ 3.ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4.การฟื้นฟูประชาธิปไตย และ 5.ปัญหายาเสพติด ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจมากที่สุด โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ การลดภาระค่าใช้จ่าย ที่ต้องแก้ไขเป็นเร่งด่วน พรรคเคยเสนอแผนวาระ 99 วันมาแล้วในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่ครอบคลุมการแก้ปัญหา การขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน และการเรียนฟรี อยากฝากรัฐบาลว่าอย่ารังเกียจว่าเป็นข้อเสนอของเราขอให้รับไปดำเนินการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะ ปัญหาหนี้สินที่ไม่ใช้เรื่องการพักชำระหนี้เกษตรกรเท่านั้น แต่รัฐบาลควรดูเรื่องหนี้บัตรเครดิต ปัญหาหนี้เสีย ปัญหากฎหมายข้อมูลเครดิต จึงอยากให้รัฐบาลลดภาระของประชาชนเฉพาะหน้า
ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจรัฐบาลต้องเร่งเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ด้วยการสร้างความชัดเจนกับนโยบายการสำรองร้อยละ 30 และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่กันไป รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานที่เป็นเอกภาพระหว่างการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจนอกจากจะสนับสนุนการลงทุนในภาครัฐแล้ว ที่เราจะเน้นเรื่องการคุ้มค่าการลงทุนในเชิงประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ และดำเนินการอย่างโปร่งใส ยังต้องสนับสนุนการลงทุนในภาคเอกชนด้วยการสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากโครงการใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ยินดีสนับสนุน แต่ต้องพิจารณาใน 3 ข้อ คือ 1.มีหลักการยั่งยืนและพอเพียงในการกำกับ จัดเม็ดเงินลงไปสู่ชุมชน 2.มีเป้าหมายที่ชัดเจน และอิงต่อความต้องการของแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ไหนที่จนซ้ำซากจะดูแลเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นไม่ได้ และ 3.โครงการประชานิยมที่ลดภาระของประชาชนควรวางระบบสวัสดิการ ซึ่งจะมีหลักประกันไม่ให้ประชาชนวิ่งหาผู้มีอำนาจ โดยอาจจะมีกฎหมายรองรับที่ต้องศึกษาอย่างชัดเจนว่าต้องใช้ประมาณเท่าไหร่ อย่างไร ซึ่งทั้งหมดเป็นการศึกษาเบื้องต้นเพื่อให้ความคิดกับรัฐบาลในฐานะพรรคฝ่ายค้านเรามองปัญหาเร่งด่วน และนำเสนอความคิดเบื้องต้นในการแก้ปัญหาบางประการ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แต่ทั้งหมดคือหลักความคิดที่เราจะใช้ในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงการจัดทำและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
นายกรณ์ จาติกวาณิช รองเลขาธิการ และ รมว.คลัง (เงา) พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากได้ยิน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยืนยันถึงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ พรรคพลังประชาชนเคยพูดเอาไว้ว่าอยากเห็นอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นแบบตายตัว ซึ่งน่ากลัวมาก จนถึงวันนี้จะทำอย่างนั้นอีกหรือไม่ หรือจะให้เปิดเสรีและคิดถึงสถานการณ์และสภาพแวดล้อมขณะนี้เป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนี้วิกฤติซับไพรม์รุนแรงขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯลดลงแล้วถึงร้อยละ 1.25 ภายใน 2 สัปดาห์ หากเป็นเช่นนี้เงินจะไหลมาสู่ประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งประเทศไทยก็จะเป็นประเทศหนึ่งที่เงินไหลเข้ามา ดังนั้นการแก้ปัญหาจะกำหนดเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์พูดมาตลอดว่าควรยกเลิกมาตรการ 30% และเมื่อรัฐบาลจะยกเงินมาตรการนี้เช่นกันก็ต้องอธิบายว่าจะมีอะไรดีกว่า โดยฉพาะ รมว.คลัง ต้องตระหนักว่านโยบายดอกเบี้ยเป็นนโยบายของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.)
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแนวทางด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาล และ ธปท.ไม่ตรงกันจะต้องปลดผู้ว่าการ ธปท.หรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า การปลดผู้ว่าการ ธปท.เป็นเรื่องใหญ่ ในอดีตก็มีการปลดทุกครั้ง แต่การจะปลดก็ต้องอธิบายเหตุผลให้ชัดเจนว่าปลดเพราะอะไร แต่ไม่ทราบว่า พ.ร.บ.ของ ธปท.ฉบับปัจจุบันได้ลดบทบาท รมว.คลัง ลงเหลือแค่ไหน หากปลดผู้ว่าการ โดยมีเหตุผลเพียงให้คนส่วนใหญ่ คิดว่าต้องการนโยบายการเงินที่หละหลวมจะมีผลกระทบระยะยาว
“ถ้าเลิกมาตรการ 30% ต้องมีความชัดเจนว่าเลิกเพราะอะไร คิดถึงผลที่ตามมาหรือไม่และมีคำอธิบายถึงมาตรการที่จะออกมารองรับการยกเลิกอะไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อมีผลเสียหายจากการเลิกมาตรการนี้จะควบคุมอย่างไร” นายกรณ์ กล่าว