xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปลื้ม ศก.12 เดือนดีเกินคาด ส่งออก-บริโภคฟื้นดัน ศก.ปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติพอใจเศรษฐกิจไทย 12 เดือนที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มฟื้นขึ้น หวังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ส่วนปัญหาซับไพรม์กระทบการส่งออกไทยไปสหรัฐติดลบ 1.2% เทียบกับปีก่อนขยายตัว 14.4%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และการเงินในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ของปี 2550 พบว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มฟื้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ที่การบริโภคและการลงทุนเริ่มชัดเจนขึ้นจากนโยบายการเงินและการคลัง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 5% เทียบกับครึ่งแรกของปีขยายตัว 4.3% และส่งผลให้ทั้งปี 2550 เศรษฐกิจขยายตัว 4.8% จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีนี้จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในภาคการต่างประเทศมีการเกินดุลการค้า 11,973 ล้านเหรียญ สูงกว่าปีก่อนที่เกินดุล 994 ล้านเหรียญ เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัว 18.1% คิดเป็นมูลค่า 151,147 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูง ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 9.6% คิดเป็นมูลค่า 139,174 ล้านเหรียญ โดยในครึ่งปีแรกการนำเข้ายังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อนตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังส่งผลให้สินค้าทุน วัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งตัวขึ้น

เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล 2,950 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เกินดุล 1,180 ล้านเหรียญ ตามการท่องเที่ยวและรายได้ผลประโยชน์จากการลงทุนของหภาครัฐ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเกินดุล 14,923 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นสัดส่วน 6%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เทียบกับปีก่อนที่เกินดุล 2,174 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 1% ของจีดีพี

“การส่งออกของไทยในปี 2550 ในช่วงไตรมาสแรกขยายตัว 2% ไตรมาสสองลดลง 1.7% ไตรมาสสาม ลดลงเป็น 9.1% แต่ในช่วงไตรมาสสี่การส่งออกเริ่มดีขึ้น ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 5.3% โดยเป็นผลจากที่ไทยเริ่มมีการส่งออกไปยังภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น จึงเชื่อว่าต่อไปอุปสงค์ในประเทศเอเชียด้วยกันเองจะมีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกัน หลังมีปัญหาซับไพรม์การส่งออกของไทยไปสหรัฐติดลบ 1.2% ในปี 2550 เทียบกับปี 2549 ขยายตัวเป็นบวกถึง 14.4%”

สำหรับอุปสงค์ในประเทศด้านการลงทุนหดตัวอยู่ที่ระดับ 0.8% จากปีก่อนที่ขยายตัว 2% โดยเป็นการลดลงในเครื่องชี้ในหมวดก่อสร้าง ทั้งในส่วนของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่ช่วงครึ่งปีหลังการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งหลังปีขยายตัว 1.5% เทียบกับครึ่งปีแรกหดตัว 3.2%

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 44.5 ในเดือน ธ.ค.ปรับลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 45.6 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมันในอีก 3 เดือนข้างหน้าส่งสัญญาณดีขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.1 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 51.6 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

“การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ชัดจากทั้งดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนที่คาดว่าในระยะสั้นจะปรับตัวดีขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคเอกชนเริ่มสูงขึ้นในอนาคตจึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ของภาครัฐที่จะเป็นตัวนำร่องกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม”

ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.3% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 2.4% โดยดัชนีมีอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังของปีมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งมีการเร่งตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเฉพาะเดือนธ.ค.อยู่ที่ระดับ 77.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 76.2 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ

สำหรับภาคการเงิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า เงินฝากของสถาบันรับฝากมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2550 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ทำให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบันและภาครัฐมีการย้ายไปลงทุนในตั๋วแลกเงินและพันธบัตรที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวค่อนข้างต่ำตั้งแต่ต้นปี จากการหดตัวของสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการลงทุน เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศและความไม่เชื่อมั่นของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้นบ้างในช่วงปลายปี

ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 เพิ่มขึ้น 7.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปีมาณเงินตามความหมายกว้างขยายตัว 1.2% เนื่องจากการขยายตัวของเงินฝากสถาบันรับฝากเงินอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 % ต่อปี และทรงตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือยสิงหาคม 2550 ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ในปี 2550 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปีตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.รวม 5 ครั้ง ก่อนที่จะทรงตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยทั้งปีอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่วงธนาคารระยะ 1 วันอยู่ที่ 3.77% และ 3.79% ต่อปี ลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2549 ที่อยู่ระดับ 4.64% และ 4.69% ต่อปีตามลำดับ และล่าสุด ในช่วงวันที่ 1-8 มกราคม 2551 อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โโยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.22% และ 3.25% ต่อปีตามลำดับ เนื่องจาก กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551

****ธปท.เชื่อแรงส่งปลายปีผลักดันเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตต่อเนื่อง

ในช่วงปี 2551 มั่นใจว่า ภาครัฐจะเริ่มลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์และไฟฟ้า เพื่อให้เอกชนลงทุนตาม ประกอบกับการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไตรมาส 4 ของปีก่อน มีสัญญาณฟื้นตัว โดยปี 2550 การนำเข้าขยายตัว 9.6% คิดเป็นมูลค่า 139,174 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในเดือนธันวาคม มีการนำเข้าแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 477 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2550 เกินดุล 14,923 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น