xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งลำไส้ หรือแค่ ลำไส้แปรปรวน / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“หมอ..ช่วงนี้เฮีย มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร” คุณชูสง่าปรึกษาพี่หมอเกี่ยวกับอาการ ที่เป็นมาซักระยะหนึ่งแล้ว “มีอาการยังไงครับเฮียก็เห็นปกติดีนี่ครับ” พี่หมอถามอาการ “ก็..เฮียรู้สึกปวดถ่ายบ่อยทั้งที่เพิ่งถ่ายเสร็จมา เหมือนถ่ายไม่สุด แต่ก็ไม่มีออกมาแล้ว ช่วงหลังนี้มีท้องเสียสลับกับท้องผูกบ่อยๆ กินอะไรไปนิดก็ต้องวิ่งหาห้องน้ำ ลมในท้องก็เยอะตดบ่อยๆ” เฮียบรรยายอาการให้พี่หมอฟัง “มิน่าเล่า” เจ้าเก่งแซวเบาๆ “อย่างนี้จะเป็นมะเร็งลำไส้เหมือนโปรติเพื่อนเฮียไหมเนี่ย” เฮียชูจิตตก “มีถ่ายเป็นเลือด ซีด น้ำหนักลดไหมครับเฮีย” “ไม่มีหมอ” “งั้นน่าจะเป็นแค่โรคลำไส้แปรปรวน IBS ครับ..แต่คนอายุเยอะก็น่าไปตรวจเช็คทางเดินอาหารนะครับ…เดี๋ยวผมจัดการให้”

ไม่ค่อยคุ้นหูกับโรคลำไส้แปรปรวน หรือที่เรียกกันว่า โรคไอบีเอส (irritable bowel syndrome) ความจริงโรคนี้มีมานานแล้ว แต่วินิจฉัยยาก เลยไม่ค่อยคุ้นหู เพราะอาการไม่มีความเฉพาะเจาะจง ผู้ป่วยโรคนี้จะมีลำไส้ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูกสลับกัน โดยตรวจไม่พบความผิดปกติทางพยาธิสภาพที่ลำไส้ จากการส่องกล้อง และการตรวจโรค ก็ไม่พบความผิดปกติ โรคนี้จะเป็นๆหายๆเรื้อรัง แต่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แม้จะเป็นมาหลายปี แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญและความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากจะจิตตกกังวลว่าทำไมโรคไม่หาย แม้ได้ยารักษา ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพการทำงานลดลง ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน แต่หลักฐานทางการแพทย์ที่มีอยู่เชื่อว่ามีปัจจัยที่สำคัญที่เป็นสาเหตุของโรค IBS อยู่ 3 ปัจจัยสำคัญคือ

1. การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก

2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหาร ซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัว แต่ในผู้ป่วย IBS จะมีการตอบสนองผิดปกติ มีการบีบรัดตัวของลำไส้มากขึ้นจนทำให้เกิดอาการปวดท้อง และท้องเสีย หรือท้องผูก เป็นต้น

3. มีความผิดปกติของระบบสมองที่ครอบคลุมการทำงานของลำไส้ (brain gut axis)

ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหนึ่งที่คล้ายๆกัน คือ จะรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แม้จะเพิ่งถ่ายมา คือรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด ท้องอืดมีลมมาก โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นๆหายๆนานเกิน3เดือน แต่ถ้ามีอาการถ่ายเป็นเลือด มีไข้ น้ำหนักลด ซีดลง หรือมีอาการปวดท้อง เกร็งท้องมากตลอดเวลา อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ใช่โรค IBS

โรค IBS จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ ?

โรคนี้จะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะมีประวัติเป็นๆหายๆมานานแต่ที่ต้องระวังคือ ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลังอายุ 40-50 ปี อาจมีความเสี่ยงเป็น โรคมะเร็งลำไส้ (เกิดร่วมกับ IBS) ซึ่งควรพบแพทย์

การรักษา ในปัจจุบันจะรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่ท้องผูกเป็นอาการเด่น หรือ ให้ยาแก้ท้องเสียและยาต้านการหดเกร็งของลำไส้ลดอาการปวดท้อง ความเครียดก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น จึงควรผ่อนคลาย ทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาโรคนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น