xs
xsm
sm
md
lg

สว.กับการขับรถยามค่ำคืน / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

เย็นวันเสาร์ของเดือนที่ร้อนที่สุด ณ บ้านคุณชูสง่า

“อ้าวเฮียไม่ไปงานรุ่นคืนสู่เหย้าของโรงเรียนเหรอ?” พี่หมอประหลาดใจเมื่อเห็นคุณชูสง่านั่งจิบไวน์สบายใจอยู่แทนที่จะแต่งตัวเตรียมไปงานที่เฮียไม่เคยขาด “เฮียขับรถกลางคืนลำบาก โรงเรียนก็อยู่ไกล ขากลับคงลำบาก เจ้าเก่งมันก็ไม่สบายพอดี เฮียเลยไม่ได้ไปปีนี้ อีกอย่างที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี” “ผมขับให้ครับเฮีย...พอดีบ้านเพื่อนผมมันอยู่แถวนั้น กำลังอยากไปหามันพอดี ...งั้นเฮียไปแต่งตัว เดี๋ยวผมไปนัดเพอื่นก่อน มันจะได้เตรียมแช่ไวน์ไว้”

ผู้สูงอายุกับการขับรถ ผู้สูงอายุไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขับรถแม้อายุมากแล้ว เพราะการขับรถเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งถึงความเป็นอิสระ การพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน จึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องไปซื้อของไปธนาคาร หรือไปนัดสังสรรค์กันบ่อย และอย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ก็จะมีสว.ขับรถมากขึ้น เพราะอายุยืนขึ้น แต่ผู้สูงอายก็เป็นกลุ่มเสี่ยงของอุบัติเหตุทางการจราจรเนื่องจากสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย

แต่ตามสถิติส่วนใหญ่แล้วสว.มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถน้อยกว่าคนหนุ่มสาว สาเหตุคือ สว.ขับรถช้ากว่า ประสบการณ์ขับรถที่ยาวนานกว่า มักคาดเข็มขัดนิรภัย และมักไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ แต่ถ้าอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าอายุเกิน 80 ปี และโอกาสได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 9 เท่า!

ในการขับรถต้องอาศัยกระบวนการทางร่างกายเหล่านี้ประกอบกันคือ

1.สมงแจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่มีภาวะสมองเสื่อม

2.มีสมาธิ ตั้งใจขับรถดี

3.การตัดสินใจที่ว่องไวและแม่นยำ

4.กำลังกล้ามเนื้อและการประสานงานของส่วนต่างๆ มือ แขน ขา คอ

5.การมองเห็นและการได้ยินที่ดี

วิธีปฏิบัติตัวเพิ่มความปลอดภัยเมื่อต้องขับรถของผู้สูงวัย

1.ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายในการขับขี่รถ ที่สำคัญคือ การมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อ ความสามารถของสมอง กระดูก และข้อต่อ

2.ควรตรวจสภาพรถเป็นระยะเสมอเพื่อป้องกันเครื่องยนต์ขัดข้อง

3.ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อจะชับรถตลอดจนหลีกเลี่ยงยาต่างๆที่อาจจะทำให้ง่วงซึม มึนงง เมื่อต้องขับรถ

4.หลีกเลี่ยงการขับรถในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย

5.หลีกเลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืน

6.หลีกเลี่ยงการขับรถในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น ฝนตกหนัก หมอกลงจัด เนื่องจากทำให้มองเห็นเส้นทางไม่ดี

7.คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถ

8.ถ้าเป็นไปได้ ควรมีคนนั่งรถไปด้วย เพื่อช่วยกันดูเส้นทาง สัญญาณไฟ และดูรถแซง สวน

9.ไม่ควรขับรถทางไกลหรือไปในที่รถมาก ซึ่งต้องใช้เวลานาน

10.ควรใช้สติจดจ่ออยู่กับการขับรถ ไม่คิด เหม่อ ใจลอย ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดในการลดอุบัติเหตุ “มีสติก่อนสตาร์ท” ทุกครั้งนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น