xs
xsm
sm
md
lg

ใครที่ชอบรสชาติอูมามิจากผงชูรส...กินได้แต่อย่ามากเกิน! / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“อ้าว! เก่งวันนี้ทำไมกินช้าจัง จะถึงเวลาออกรอบแล้วนะ” พี่หมอประหลาดใจเมื่อเห็นข้าวยังเต็มจานผิดจากวันอื่นๆ “ไม่อร่อยเลยครับพี่..ผมดันสั่งไม่ใส่ผงชูรส” “ทำไมล่ะ เอ็งไม่ได้แพ้ผงชูรสไม่ใช่หรอ?” “กลัวผมร่วงหัวล้านครับ ผมยิ่งบางๆอยู่...ไอ้เถิกมันบอกว่ามันหัวล้านเพราะกินผงชูรสมาก...จริงไหมพี่” “ไม่จริง มันเป็นกรรมพันธุ์เหมือนลุงช้างพ่อมัน เอ็งอย่าไปเชื่อ" “อ้าว!งั้นผงชูรสก็กินได้น่ะซิ ผมยิ่งชอบรสอูมามิอยู่ด้วย” “เออ ผงชูรสแท้น่ะกินได้ แต่ถ้ามากเกินไปก็ไม่ดี” พี่หมอสรุป

ผงชูรสนั้น แม้จะได้รับการยืนยันว่าผลิตมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ดั้งนั้นจึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา แต่หากรับประทานผงชูรสมากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไป ส่งผลต่อความดันโลหิตสูงขึ้นได้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้การรับประทานผงชูรสมากเกินไปอาจเกิดอาการแพ้ผงชูรสหรือโรคภัตตาคารจีน (Chinese Restaurant Syndrome หรือ CRS) ที่ทำให้เกิดอาการชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ โหนกแก้ม แผ่นหน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก กระหายน้ำ ปวดท้องคลื้นไส้ อาเจียน ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมากๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้าและหู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายใน 2 ชั่วโมง รวมถึงไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น นักกำหนดอาหารบอกว่า โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ก็ไม่ควรกินผงชูรสเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้น หากได้รับผงชูรสเข้าไปจะส่งผลกระทบกับการเจริญเติบโตของสมองในวัยเด็กนี้อีกด้วย

ทานผงชูรสอย่างไรให้ปลอดภัย

เมื่อทราบถึงความเสี่ยงอันตรายจากการรับประทานผงชูรสมากเกินไปแล้ว หากต้องการรับประทานให้ปลอดภัย แนะนำให้ปรุงประกอบอาหารเอง เนื่องจากเราสามารถกำหนดและควบคุมปริมาณของผงชูรสได้ โดยปริมาณของผงชูรสที่รับประทานได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรังคือ ปริมาณ 1 ช้อนชาต่อมื้อ โดยไม่ใส่เครื่องปรุงอื่นๆเพิ่ม การปรุงอาหารประเภทน้ำซุป ควรใช้น้ำต้มกระดูกในการทำน้ำสต็อกแทนการใส่ผงชูรสมากๆ

แต่หากไม่สามารถปรุงประกอบอาหารได้เอง จำเป็นต้องทานอาหารนอกบ้าน แนะนำให้เลือกรับประทานอาหารจากร้านที่ไม่ใส่ผงชูรส หรือสามารถแจ้งความประสงค์ได้ว่าไม่ใส่ผงชูรส และหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผงชูรสได้จริงๆ แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดจ้าน เช่นพวกอาหารปิ้งย่าง ยำ ส้มตำ ต้มยำ แกงที่มีเครื่องแกง อาหารที่ทานคู่กับน้ำจิ้ม เนื่องจากอาหารเหล่านี้มักใส่ผงชูรสและเครื่องปรุงอื่นๆในปริมาณมากเกินจากคำแนะนำ

นักกำหนดอาหารยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรรับประทานน้ำปรุงในอาหาร เช่น น้ำยำ น้ำซุป น้ำราด น้ำจิ้ม เนื่องจากโซเดียมในผงชูรสและเครื่องปรุงอื่นๆละลายได้ในน้ำ ดังนั้นก็จะช่วยให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมน้อยลงได้ เราจึงสามารถลิ้มรสชาติอาหารอร่อยกลมกล่อมจากการทานอาหารอื่นๆที่ใส่ผงชูรสน้อยได้อย่างปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น