xs
xsm
sm
md
lg

นอนในรถเปิดแอร์...หลับยาวววววไปเลย RIP / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“พี่หมอช่วยโทรเรียกไอ้เก่งหน่อย เฮียรอตั้งนานแล้วมันยังไม่เอารถมารับเลย” คุณชูสง่าขอร้องพี่หมอช่วยตามสารถีเก่งที่ผิดนัดกันไว้ว่าจะมารับเฮียกลับหลังจากทำธุระเสร็จเวลาบ่ายสามโมง แต่นี่บ่ายสี่แล้วยังไม่เห็นเงาไอ้เก่ง “มันหลับอยู่ในรถครับเฮีย” “อยู่ได้ยังไงว๊ะร้อนตับจะแตก” “มันเปิดแอร์แล้วง่วงหลับไปครับ...ความจริงอันตรายมากนะครับ...เปิดแอร์นอนในรถนานๆ” “อันตรายยังไงหมอ?” “อ้าว!เฮียไม่ได้ยินข่าวเหรอครับ เมื่อวานก็นอนตายในรถเปิดแอร์ที่พัทยาอีกคน”

ปัจจุบันยังคงมีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตขณะนอนหลับภายในรถขณะที่ติดเครื่องยนต์ และเปิดแอร์ทิ้งไว้มาให้พบเห็นกันอยู่เรื่อยๆ แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมการนอนเปิดแอร์ภายในรถจึงเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ถ้าหากขับรถไปเรื่อยๆหรือแม้กระทั่งจอดติดไฟแดงกลับไม่เป็นไร

ทำไมนอนสตาร์ทเครื่องยนต์ เปิดแอร์ อาจถึงขั้นเสียชีวิต?

“อันตรายจากการสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมกับเปิดแอร์นอนภายในรถถือเป็นภัยที่หลายคนคาดไม่ถึง เนื่องจากเครื่องยนต์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์หากสูดดมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ระบบปรับอากาศของรถจำเป็นต้องดังอากาศภายนอกบางส่วนเข้ามายังห้องโดยสาร แม้ว่าจะเปิดดระบบหมุนเวียนอากาศภายในรถแล้วก็ตาม อีกทั้งท้ายรถจะมีบริเวณช่องระบายอากาสำหรับลดแรงดันขณะปิดประตูซ่อนไว้อยู่หลังกันชน ดังนั้นหากจอดรถติดเครื่องไว้จะส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์เล็ดลอดเข้ามายังห้องโดยสารได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเพราะก๊าซชนิดนี้จะไปแย่งออกซิเจนจับกับเม็ดเลือดแดงซึ่งจับได้ง่ายกว่าออกซิเจนหลายเท่า ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ ร่างกายจะขาดออกซิเจนทำให้อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เกิดเลือดเป็นกรด ทำให้ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตในที่สุด และเนื่องจากก๊าซนี้ไม่มีสีไม่มีกลิ่นทำให้ไม่รู้ตัวว่ารับเข้าไปมากน้อยเท่าไรโดยเฉพาะในขณะหลับ

ส่วนกรณีขับรถต่อเนื่องหลายชั่วโมงกลับไม่ได้รับอันตรายจากก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์นั้นเป็นเพราะอากาศจะมีการถ่ายเทตามปกติขณะรถกำลังเคลื่อนที่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารภายในรถจึงไม่ได้รับอันตรายจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ในปริมาณมากเหมือนกับขณะที่รถจอดหยุดนิ่ง

อย่างไรก็ดี การได้รับคาร์บอนมอนออกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์แม้ในปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆก็อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้เช่นกัน ดังนั้นในการขับรถนานๆจึงควรจอดแวะพักเพื่อเพิ่มความสดชื่นและจะได้ฟอกปอดเพื่อเพิ่มความสดชื่นก่อนออกเดินทางต่อไป

ถ้าหากจำเป็นต้องงีบเพราะง่วงขับรถต่อไม่ไหวในช่วงอากาศร้อนอย่างนี้มีความจำเป็นต้องเปิดแอร์ ควรต้องลดกระจกลงเล็กน้อยทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อช่วยระบาย พร้อมกับตั้งเวลาปลุกไว้ประมาณ 10-15 นาที เพียงเท่านี้ก็จะช่วยเพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หายง่วงพร้อมที่จะเดินทางต่อไปได้อย่างปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น