xs
xsm
sm
md
lg

ดื่มนมดี...ไม่ดี ให้หมอบอกดีกว่า / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“เอาอีกละหมอ” คุณชูสง่าเปรยถึงเรื่องค้างคาใจกับพี่หมอ “วันนี้เฮียก็เจอบทความที่บอกว่านมเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีก...คราวที่แล้วหมอบอกว่าดื่มได้วันละ 2 แก้ว” “ใช่ครับเก่งจำได้” เจ้าเก่งเสนอตัวเป็นพยาน เฮียชูพูดต่อ “อันนี้เป็นความคิดเห็นของหมอเองหรือเปล่า...มีเอกสารสนับสนุนอ้างอิงไหม?” “มีสิครับเฮีย 3 หน่วยงานเลยล่ะ” พี่หมอตอบ “หน่วยงานไหนบ้างครับพี่หมอ เก่งจะได้ดื่มอย่างสนิทใจหน่อย” “1ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย 2สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ3สมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย พอไหมครับ3หน่วยงาน” พี่หมอสรุป

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมกุมารแพทย์ และสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกเอกสารชี้แจงเรื่อง “การบริโภคนมวัวกับสุขภาพเด็ก”

สืบเนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการสื่อสารข้อมูลในช่องทางต่างๆเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “นมวัว ทำลายสุขภาพ” กันอย่างแพร่หลายในสังคม จึงได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีพื้นฐานอยู่บนผลการศึกษาเชิงประจักษ์ และหลักฐานทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบันดังต่อไปนี้

1เคซีนในนมวัวกับการย่อยอาหาร เคซีนเป็นโปรตีนหลักที่พบในน้ำนมวัว ทำหน้าที่จับกับแคลเซียมและฟอสเฟต และทำให้น้ำนมมีลักษณะสีขาวขุ่น ในเด็กปกติที่ไม่ได้มีปัญหาการย่อยอาหารบกพร่อง ก็จะไม่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องจากการบริโภคนมวัว

2สารตกค้างในนมวัว มีการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียน ทั้งทางด้านโภชนาการและจุลินทรีย์ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าร้อยละ 97 มีคุณภาพผ่านมาตรฐาน ไม่พบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และยาต้านจุลชีพตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ

3นมวัวกับภาวะกระดูกพรุน พบว่ากลุ่มเด็กที่บริโภคนมมีมวลกระดูกมากขึ้นประมาณร้อยละ 3 เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภค และจะช่วยให้มวลกระดูกสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ป้องกันภาวะกระดูกบางในผู้สูงอายุ

4นมวัวกับโรคมะเร็ง มีหลักฐานจากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ พบว่ามีหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ ที่สนับสนุนว่าการบริโภคนมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ไม่มีหลักฐานว่าการบริโภคนมวัว ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

5นมวัวกับโรคออทิซึม ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันว่านมวัวมีส่วนทำให้เกิดโรคออทิซึม แต่พบว่าการงดบริโภคนมวัวในเด็กที่เป็นโรคออทิซึมทำให้เกิดผลเสีย เพราะขาดแหล่งของกรดอะมิโนที่จำเป็น

6นมวัวกับโรคภูมิแพ้ ทารกและเด็กเล็กที่บริโภคนมวัว มีเพียงร้อยละ 1.7 จะเกิดโรคแพ้โปรตีนนมวัว และจากการศึกษาล่าสุด ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ ระหว่างการที่เด็กได้รับนมวัวกับการเกิดโรคหอบหืด การหายใจลำบากมีเสียงหวีด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคแพ้โปรตีนนมวัว

ดังนั้นจากหลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้สรุปมาข้างต้น ร่วมกับคุณค่าทางโภชนาการของนมวัว ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าสูงทางโภชนาการ จึงควรส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนบริโภคนมวัววันละ 3 แก้ว (แก้วละ 200 ซีซี) ส่วนเด็กวัยเรียนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่แนะนำให้บริโภคนมวันละ 2-3 แก้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น