คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ทุกครั้งก็เห็นว่ามีผู้โดยสาร การบินไทย แทบจะเต็มทุกที่นั่ง แล้วมันประสบภาวะขาดทุนได้อย่างไรกัน ขนาดยังไม่มี โคโรนาวายรัส มาคุกคามโลกอย่างตอนนี้ก็ขาดทุนมานานหลายปีแล้ว นี่คือสายการบินแห่งชาติในรูปบริษัทมหาชน กระทรวงการคลังถือหุ้น 51.03% ประชาชนเข้าไปซื้อหุ้นและเป็นเจ้าของได้ แต่รัฐครองเสียงส่วนใหญ่ จึงกุมอำนาจการบริหารจัดการ จัดวางคนเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ผมมองไม่เห็นเหตุผลอย่างอื่นนอกจากมีการทุจริตอย่างบ้าระห่ำมาตลอด แล้วจะไม่เจ๊งได้อย่างไร นี่รัฐกำลังจะอุ้มโดยค้ำประกันเงินมาอุดรูรั่วหลายหมื่นล้านบาท มันก็คือเงินของประชาชนนี่ไง ผมว่าขายหุ้นที่รัฐถืออยู่สัก 35-40% แล้วนั่งดูเอกชนบริหารดีกว่ามั้ง
ยิ่งในขณะที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โคโรนาวายรัส เขาว่าต้องรออย่างน้อยสิ้นปีนี้ อาจยาวไปถึงสิ้นปีหน้าหรือไกลกว่านั้นอีก แล้วเรื่องที่นั่งบนเครื่องบินจะทำอย่างไรกัน แม้อากาศในห้องผู้โดยสารจะมีการถ่ายเททุก 3 นาที แต่ก็ต้องจัดแยกให้ผู้โดยสารนั่งห่างกัน ทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่ ส่งผลให้ราคาค่าโดยสารย่อมถูกปรับสูงขึ้นให้สมดุลกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเที่ยวบิน คราวนี้การแข่งขันฟุตบอลที่ต้องเดินทางไปเยือนยังสนามที่อยู่ห่างไกลจะทำอย่างไรกันดี ค่าเดินทางหนักแน่
วันนี้โลกของฟุตบอลกำลังครุ่นคิดถึงมาตรการต่างๆที่จะต้องถูกงัดมาใช้ในช่วงที่โรคระบาดยังคงอยู่ เช่น สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า กำลังพิจารณาห้ามนักเตะ และทีมงานทุกคนถ่มน้ำลายในสนามอีกต่อไป เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้จากคนสู่คนจากละอองสารคัดหลั่งจากระบบการหายใจของบุคคลที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะ น้ำมูก น้ำลาย อันนี้ถือเป็นปัญหาหนักของนักเตะเลยทีเดียว เพราะเวลาออกกำลังวิ่งมากๆแทบทุกคนจะมีน้ำลายเหนียวและเคยชินกับการถุยทิ้ง บางครั้งมีน้ำมูกอีกต่างหาก นักเตะก็ต้องสั่งน้ำมูกทิ้ง คราวนี้ต่อให้มีน้ำลายเหนียวขนาดไหน เอ็งก็ต้องกลืนเข้าไป จะมีน้ำมูกไหลเยิ้มขนาดไหน เอ็งก็ต้องสูดกลับเข้าไป ไม่เช่นนั้นมีโทษใบเหลือง ทำ 2 อย่างหรือ 2 ครั้งไล่ออกจากสนามเลยนะครับ ผมว่าตรวจหาเชื้อวายรัสในตัวนักเตะด้วยวิธี PCR ก่อนแข่งดีกว่ามั้ย
การเปลี่ยนตัวผู้เล่นทีมละ 5 คนต่อเกมก็เป็นแผนการของ ฟีฟ่า แต่ผมคิดว่าอันนี้คงนำมาใช้ชั่วคราวในเบื้องต้น เพราะเมื่อบางลีกกลับมาเตะเพื่อให้จบฤดูกาล 2019-20 คงต้องมีการแข่งขันถี่มากกว่าปกติ แถมยังไปเบียดเวลาของฤดูกาล 2020-21 อีก ซึ่งจะทำให้นักเตะถูกใช้งานหนักกว่าปกติ ดังนั้น การอนุญาตให้เปลี่ยนตัวได้มากขึ้นย่อมช่วยให้นักเตะได้พัก หลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ
ห้ามผู้มีอายุเกิน 70 ปีเข้าสนาม คนยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งมีภูมิคุ้มกันลดน้อยถอยลง หากติดเชื้อแล้วโอกาสรอดน้อยกว่าคนที่มีอายุน้อย อันนี้ก็เป็นมาตรการที่ช่วยได้ดี แต่ความจริงก็มีการพูดจากกันแล้วว่า ควรจัดการแข่งขันในสนามปิดไม่มีผู้ชมไปก่อน จะรีบร้อนในช่วงแพร่ระบาดไปทำไม แต่ถ้ายังฝืนให้มีผู้ชม ผมว่าควรมีการตรวจเชื้อผู้เข้าชมในสนามให้หมด ไม่ใช่แค่ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิง่อยๆด้วย และระหว่างชมก็ต้องมีการป้องกันด้วยเช่น สวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างทางสังคม
การฝึกซ้อมโดยรักษาระยะห่างทางสังคม นักเตะสวมชุดมาสนามให้พร้อม สวมหน้ากากอนามัยด้วย แต่ละคนมีลูกบอลของตนเอง สนามซ้อมก็ต้องมีการจัดระบบเว้นระยะห่างทางสังคมให้ดีและทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเข้มข้นมัน ไม่มีการอาบน้ำและรับประทานอาหารในสนามฝึกซ้อม ถ้าทางสโมสรอยากจัดอาหารให้ก็จัดใส่กล่องส่งให้ที่รถของนักเตะ ไม่มีการประชุมทีม ให้ไปทำที่อื่นในระบบออนลายน์ สิ่งเหล่านี้ก็คงช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เล่นกันเป็นทีม การฝึกซ้อมแบบนี้อาจช่วยทางด้านพละกำลัง ทักษะ แต่ขาดความเป็นทีม ทางที่ดีเอ็งก็ตรวจหาเชื้อแบบ PCR เอาให้แน่ใจซะก่อนว่าปลอดเชื้อไม่ดีกว่าหรือ มันก็เหมือนกับที่ เจอรมานี กับ อังกฤษ คิดขนาดห้ามนักเตะมีเซ็กส์กับแฟนที่มีอาการ อันนี้ไม่รู้พูดมาทำไม แต่ละคนย่อมระมัดระวังตนเองโดยสัญชาติญาณอยู่แล้ว และจะไปล่วงรู้กิจกรรมของพวกเขาได้อย่างไร
บางลีกมีกำหนดกลับมาเตะกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถตกลงกันให้ชัดเจนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแพทย์ การตรวจหาเชื้อ และสวัสดิการนักเตะ อย่างเช่น เพรอมิเอ ลีก ที่มีความหวังว่าจะกลับมาเตะกันต่อในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งจะมีการลงมติกันในวันจันทร์หน้า โดยหากกลับมาฝึกซ้อมกันก่อนที่จะมีการคลายกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม นักเตะอาจต้องได้รับการตรวจเชื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์และมีการตรวจอาการทุกวัน ส่วน บุนเด๊สลีกา ก็มีกำหนดกลับมาเตะวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ แต่รัฐบาลยังขอให้รอเริ่มหลังจากนั้นสัก 1-2 สัปดาห์