xs
xsm
sm
md
lg

ลมหายใจ ล้างเผ่าพันธุ์ / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

หลายชาติมีวิธีจัดการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ โคโรนาวายรัส (COVID-19) ต่างๆกัน ที่ ฝรั่งเศส รัฐรับเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยบางส่วนให้ลูกจ้างที่พักงาน และยังยกเว้นภาษีการจ้างงานให้แก่นายจ้าง ที่ สหรัฐ อเมริกา วุฒิสภาฝ่ายรีพับบลีเกิ้น เสนอให้จ่ายเช็ค 1,200 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส แก่ผู้ใหญ่ทุกคน ส่วนเด็กๆก็รับคนละ 500 ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส เหล่านี้เป็นมาตรการช่วยบรรเทาทุกข์กันอย่างถ้วนหน้า คนที่ตำหนิว่าเป็นการโปรยเงินอย่างไร้ประโยชน์คงไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อย่างแน่นอน เพราะมันช่วยแก้ไขความแร้นแค้นและทดแทนข้อที่ขาดตั้งแต่ต้นทางของโซ่เศรษฐกิจ ข้ามมาฝั่งไทย รัฐแจกเงินเช่นกัน แต่ไม่ได้ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน จึงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วใครกันที่ไม่ได้รับผลกระทบ

ในเวลานี้หลายชาติที่ได้ดำเนินมาตรการกักตัวอยู่กับบ้าน งดกิจกรรมบางอย่าง โดยเฉพาะ กีฬาและบันเทิง กำลังเริ่มวางกำหนดการคลายมาตรการลงแล้ว ทำให้ผู้คนสามารถออกมาในที่สาธารณะและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แม้จะไม่เต็ม 100 % แต่มันก็ช่วยให้กิจกรรมหลายอย่างที่ขาดหายไปได้กลับมาเสียที การจัดการแข่งขันกีฬาหลายชนิดรอไม่ได้ต้องถอดใจประกาศยกเลิกไปแล้ว อย่างเทนนิส วิมเบิลเดิ้น 2020 บางรายการเลื่อนไปไม่กี่เดือน อย่างจักรยานทางไกล ตูร เดอ ฟร้องส์ บางรายการยกไปข้ามปี อย่างโอลิมปิค เกมส์ 2020 บางรายการอาจได้เห็นในเร็วๆนี้ อย่างเช่น ฟุตบอลลีกในประเทศต่างๆ ยูเอ๊ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฯลฯ

ผมยังมีข้อกังวลเรื่องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งจากการทดลองของมหาวิทยาลัยฝรั่งที่ผมเคยเล่าให้ฟังแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน พบว่าละอองน้ำลายหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ถูกปล่อยออกมาพร้อมกับลมหายใจของคนที่กำลังเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน ด้วยความเร็วระหว่าง 4 ถึง 14 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะฟุ้งกระจายไปด้านหลัง ทำให้ผู้ที่ตามอยู่ด้านหลังมีโอกาสติดเชื้อได้ อันนี้เป็นผลที่เกิดจากกระแสล้มที่ถูกพุ้ยไปข้างหลังที่เรียกว่า Slipstream ดังนั้น การเดินตามอยู่ด้านหลังต้องทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 4-5 เมตร แต่ถ้าวิ่งหรือขี่จักรยานตามหลัง ระยะห่างต้องเพิ่มเป็น 10 เมตร และหากเป็นการปั่นจักรยานอย่างเร็วจี๋นั้น ต้องทิ้งระยะห่างไม่น้อยกว่า 20 เมตร

จริงอยู่ที่กีฬาบางชนิดแข่งขันกันอย่างห่างไกล ต่างฝ่ายต่างอยู่กันคนละฝั่ง มีตาข่ายกั้น หรือช่องแข่งขันแยกต่างหากของใครของมัน บางชนิดประลองทีละคน ไม่ต้องใกล้ชิดกัน เช่น โบว์ลิ่ง ยิงปืน วอลเล่ย์บอล เท็นนิส เทเบิ้ลเท็นนิส แบ๊ดมินเติ้น ตะกร้อ กรีฑาประเภทลาน ฯลฯ แต่พอผมคิดถึงกีฬาที่ต้องใกล้ชิดกันหรือมีการสัมผัสกัน เช่น กรีฑาประเภทลู่ ประเภทถนน ฟุตบอล รักบี้ บ๊าสเก็ตบอล มวยไทย มวยสากล มวยปล้ำ คาราเต้ เทควันโด้ โอกาสในการแพร่เชื้อย่อมมีมากทีเดียว

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ เราก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการแข่งขันตราบเท่าที่ โคโรนาวายรัส ยังไม่หมดไปจากโลก ฝรั่งเองยังดักคอไว้ว่า อย่าชะล่าใจเด็ดขาด นั่นคือต้องพยายามจำกัดวงเพื่อมิให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น แม้จะเป็นการแข่งขันกีฬาในระบบปิด ไม่มีผู้ชม แต่นักกีฬา ผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกคนก็ย่อมมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ก่อนการแข่งขันก็ต้องมีการตรวจหาเชื้อจากผู้เกี่ยวข้องให้มั่นใจว่า ปลอดเชื้อ เสียก่อน อันนี้ ผมขอย้ำว่า เราต้องใช้วิธี Real-time RT PCR ซึ่งเป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งสามารถทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย ก็สามารถตรวจจับได้หมดจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ เมื่อพบว่านักกีฬาคนไหนติดเชื้อก็ต้องกันออกไปรับการรักษา

ผมไม่รู้สึกดีกับการตรวจแบบ Rapid Test ด้วยการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็วที่สามารถทราบผลได้ใน 15 นาที เพราะการตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังจากมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค ดังนั้นการใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกันในช่วงแรกของการรับเชื้อ ผลการตรวจจะเป็นลบ ไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยติดเชื้อ เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น หมายความว่า เครื่องตรวจแบบนี้ อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด คิดว่าไม่ติดเชื้อ อันนี้ ฝรั่งบางประเทศห้ามไม่ให้ใช้นะครับ สรุปคือ ต่อไปนี้ กีฬา แข่งได้โดยยังไม่มีผู้ชม และต้องตรวจร่างกายนักกีฬาก่อนแข่งครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น