คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ในงานมอบรางวัลไม่ว่าจะเป็นวงการกีฬา บันเทิง หรืออื่นใด ใครได้รับรางวัล ก็มักจะได้รับโอกาสให้กล่าวอะไรต่อผู้ชมสักหน่อย ซึ่งบางรายการมีการถ่ายทอดโทรทัศน์หรืออย่างน้อยก็หาชมได้ในภายหลัง คำกล่าวนั้นจึงอาจจะมีผู้รับชมมากมายนับแสนนับล้านคน หรืออาจเป็นพันล้านคนเลยทีเดียว บางคนอาจจัดเตรียม ซักซ้อมคำกล่าวแสดงความรู้สึก ประดิษฐ์วาทะแหลมคม ซาบซึ้ง กินใจ หรือแฝงความหมายสำคัญเอาไว้ บางคนเดาะแฝงเรื่องสิ่งแวดล้อม สงคราม หรือการเมือง บางครั้งวาทะนั้นเกิดอิทธิพลส่งผลใหญ่หลวง บางครั้งก็ไม่ แต่ที่สำคัญ “ เอ็งจะพูดเฮียไรก็ได้ ... คนกำลังฟัง ! ”
เมื่อตอนที่ผมชนะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ฝรั่งเศส พิธีกรถามถึงความรู้สึก ผมแค่บอกว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่อยู่ที่ ฝรั่งเศส ไม่เคยมีวินาทีไหนเลยที่รู้สึกเสียดายเวลา อันนี้ก็เพียงแค่ต้องการสื่อความหมาย ส่งความปรารถนาดีไปยังประเทศที่สวยงาม เจริญพัฒนา ประชาชนได้รับการปกป้อง มีสิทธิ์ เสรีภาพ มีความเท่าเทียมกัน จะแสดงความเห็นด้วยในสิ่งใดก็ไม่ต้องเกรงกลัวอะไร จะแสดงความไม่เห็นด้วยในสิ่งใดก็ไม่ผิดกฎหมายด้วย กฎหมายมีไว้ใช้กับทุกคนเหมือนกัน ไม่มีการตีความบ้าบอให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายกุมอำนาจเอาดื้อๆ
ลิโอเน็ล เม้สซี่ (Lionel Messi) กองหน้า ทีมชาติอารเก็นตีนา แห่งสโมสรบารเซโลนา วัย 32 ปี เพิ่งได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของโลก บัลลง ดอร ฟร้องซ์ ฟุตบอล 2019 (Ballon d’ Or France Football 2019) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 64 ไปครองซึ่งนับเป็นหนที่ 6 แล้ว คำกล่าวของเขาไม่ได้แฝงนัยทางการเมือง สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม หรืออะไรที่คนฟังต้องคิดตามให้เหนื่อย แต่เขากล่าวด้วยความจริงใจอย่างเรียบง่ายเป็นการขอบคุณบรรดาผู้สื่อข่าวทั่วโลกที่ช่วยกันลงคะแนนให้เขา ขอบคุณเพื่อนร่วมทีมที่เป็นส่วนสำคัญช่วยให้ได้รับรางวัล ขอบคุณสโมสร ขอบคุณครอบครัวที่ให้การช่วยเหลืออย่างมาก โดยเฉพาะภรรยาที่คอยย้ำเตือนมิให้หยุดฝัน มุ่งมั่นทำงานและพัฒนาต่อไป และก็ขอบคุณพระเจ้า แถมยังถ่อมตนว่า มาถึงจุดนี้ได้เพราะตนโชคดี
คำกล่าวของผู้กำกับละครไทยประเภทอิจฉา ด่าตบ แย่งผัว แย่งเมีย ดูแล้วอึดอัดมากกว่าบันเทิง แถมคอยกล่อมเกลายัดเยียดความคิดชั่วใส่หัวผู้ชม และเฝ้าทำลายสังคมไทยมาช้านาน อันนี้นับเป็นโอกาสอันดี เพราะชาวบ้านดูกันเยอะ หมอนี่แฝงนัยทางการเมือง ซึ่งอาจไม่แปลก แต่ดันออกปากไล่ประชาชนเจ้าของประเทศให้ระเห็จออกนอกประเทศไป เพราะดันคิดต่างจากตน
คำกล่าวของนักเตะที่ได้รับรางวัลที่ผมรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษก็คือ คำกล่าวของ รู้ด ฆุลลิท (Ruud Gullit) อดีตมิดฟีลด์ทีมชาติเนเธ่อร์แลนด์ส ที่โด่งดังตอนค้าแข้งกับสโมสร เอซี มีลาน ใน อิตาลี ตอนที่ได้รับรางวัล บัลลง ดอร ในปี 1987 โดย รู้ด ได้กล่าวอุทิศรางวัลให้กับ เน็ลเซิ่น มานเดลา (Nelson Mandela) นักโทษการเมืองชาวอัฟริกาใต้ วัย 69 ปี ที่ต่อต้านการแบ่งแยกผิวและขณะนั้นถูกจองจำอยู่ใน คุกโพลส์มัวร์ (Pollsmoor Prison) ใน เค้พทาวน์ อัฟริกาใต้ ซึ่งตอนนั้นในอิตาลีเองก็ไม่น่าจะมีคนรู้จักนักต่อสู้ชาวอัฟริกาใต้ผู้นี้ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม รู้ด เปิดเผยว่า การได้รับรางวัล บัลลง ดอร มันเป็นโอกาสให้เขาได้ป่าวประกาศให้คนทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องสิทธิ์มนุษยชน การต่อต้านการแบ่งแยกผิว และโดยเฉพาะ เน็ลเซิ่น ผู้ที่เป็นผู้นำในการต่อต้านการแบ่งแยกผิว เน็ลเซิ่น บอกกับ รู้ด ว่า ข่าวเรื่องการอุทิศรางวัลให้แก่เขานั้นดังแซ่ซ้องไปถึงในคุกเลย ในที่สุด เน็ลเซิ่น ก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1990 และมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อสันติภาพและต่อต้านการแบ่งแยกผิวผ่านวิถึทางทางการเมือง จนในปี 1994 ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งอัฟริกาใต้ในที่สุด