xs
xsm
sm
md
lg

“สคูลลิง โมเดล” ต้นแบบชาติอาเซียน โค่นมหาอำนาจกีฬา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สคูลลิง ความหวังใหม่อาเซียน
เอเยนซี - ศึกว่ายน้ำ โอลิมปิก 2016 ที่ บราซิล รูดม่านลงพร้อมกับความสำเร็จของ ไมเคิล เฟลป์ส ฉลามเก๋าแห่ง สหรัฐอเมริกา ที่โกยเหรียญทองกลับบ้าน 5 เหรียญ รวมของเดิมคือ 23 เหรียญ ซึ่งความจริงน่าจะได้ 6 เหรียญด้วยซ้ำ หากไม่ถูกหนุ่มน้อยจาก สิงคโปร์ ชื่อ โจเซฟ สคูลลิง มาขโมยซีนในท่าผีเสื้อ 100 เมตร ซึ่งทำให้ชื่อและรูปภาพของเจ้าตัวเบียดขึ้นสื่อหน้าหนึ่งหลายสำนัก ก่อนถูกยกเป็นหนึ่งในความหวังของนักว่ายน้ำอาเซียน ที่หลายชาติต้องศึกษาตามรอย

สคูลลิง วัย 21 ปี กลายเป็นฮีโรของชาติในบัดดล จากผลงานว่ายแซง “เดอะ บัลติมอร์ บุลเล็ตต์” ที่ ริโอ อควอติกส์ เซ็นเตอร์ ก่อนว่ายแตะขอบสระเป็นคนแรกด้วยเวลา 50.39 วินาที ที่ไม่ธรรมดาคือนอกจากแย่งเหรียญทองมาแล้ว ยังทำลายสถิติโลกของแชมป์เก่าชาวอเมริกันอีกต่างหาก เรียกว่า การเปิดซิงกีฬาห้าห่วงของเงือกหนุ่มจาก สิงคโปร์ คุ้มค่าตั๋วเครื่องบิน และเวลาที่เสียไปให้กับการเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุยังน้อย

ก่อนเขียนประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง และ สิงคโปร์ ชาติที่ไม่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิกเลยนับตั้งแต่เข้าแข่งขันครั้งแรก ปี 1948 ที่ ลอนดอน อังกฤษ สคูลลิง เริ่มต้นการเป็นนักว่ายน้ำแบบจับพลัดจับผลู เมื่อ โคลิน กับ เมย์ คุณพ่อและคุณแม่ ส่งลูกชายไปเรียนว่ายน้ำตั้งแต่ 2 ขวบ แค่เพื่อให้รู้วิธีเอาตัวรอดยามจมน้ำ ซึ่งหนุ่มน้อยลูกครึ่งจีน - มาเลเซีย ก็สามารถทำความคุ้นเคยกับน้ำได้ดีแบบไร้ความหวาดกลัว ก่อนฝึกว่ายน้ำจนได้เหรียญทองตั้งแต่ 5 ขวบ ในระดับประเทศรุ่นเด็ก

เมื่อรู้อนาคตว่าอยากเป็นนักกีฬาโอลิมปิก เหมือนที่ ลอยด์ วัลเบิร์ก คุณปู่ของเขาที่เป็นนักกีฬากระโดดสูงเมื่อ 68 ปีที่แล้ว สคูลลิง วัย 8 ขวบ เดินไปบอกคุณพ่อถึงความฝันของตัวเอง ก่อนทำเรื่องขอไปศึกษาต่อที่ โบลเลส ไฮสคูล ที่ ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และนั่นก็ทำให้เขาได้เจอกับ เฟลป์ส ฉลามหนุ่มผู้เป็นฮีโรและหวังตามรอยความสำเร็จใน โอลิมปิก เช่นเดียวกัน

ชีวิตการศึกษาที่เมืองลุงแซม เงือกน้อยจาก สิงคโปร์ ได้ฝึกพื้นฐานมากมาย ทั้งพละกำลัง, สร้างกล้ามเนื้อ, ท่วงท่าการว่าย ท่ามกลางเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนและโตมาด้วยกันอย่าง ไรอัน เมอร์ฟี ที่เพิ่งได้ 3 เหรียญทองท่ากบ 100 เมตร, 200 เมตร และ 4x100 เมตร ที่ บราซิล, ซานโต คอนโดเรลลี จาก แคนาดา ที่พลาดเหรียญฟรีสไตล์ 100 เมตร แบบเฉียดฉิว และ เคเลบ เดรสเซล เงือกอเมริกันที่ได้เหรียญท่า 4x100 เมตร เรียกว่าเป็นกลุ่มนักว่ายน้ำอนาคตไกลก็ว่าได้

หลังสำเร็จการศึกษาโดยได้รับคำชมมากมายจากครูฝึกถึงฝีมือทำเวลาเอาชนะนักว่ายน้ำเจ้าถิ่นมาหลายครั้ง สคูลลิง ก็เริ่มสร้างชื่อให้ตัวเอง ลงแข่ง ซีเกมส์ ที่ อินโดนีเซีย ปี 2011 และ พม่า ปี 2013 กวาดมาได้ 7 เหรียญทอง ก่อนบุกไป เอเชียน เกมส์ ครั้งแรกปี 2014 ที่เกาหลีใต้ กระชากมาได้ 1 เหรียญทอง ในท่าผีเสื้อ 100 เมตร และยกสถานะสู่ความหวังของชาติจาก 9 เหรียญทองที่ทำได้ใน ซีเกมส์ 2015 ที่บ้านเกิดของตัวเอง

ผลแห่งความเพียรพยายามและมุมานะ สคูลลิง ทำความฝันให้เป็นจริงได้สำเร็จ นั่นคือ บุกสู่ “ริโอ เกมส์” แล้วหยิบเหรียญทองกลับมา ซึ่งหลังจบการแข่งขัน เงือกน้อยที่บัดนี้โตเป็นหนุ่มแล้ว กล่าวเป็นความสำเร็จที่แลกด้วยเหงื่อ ความกดดัน และน้ำตา “มันเป็นเส้นทางที่สาหัสมาก เพราะผมทำสิ่งที่ไม่เคยมีผู้คนในประเทศนี้เคยทำมาก่อน การเป็นคนแรกที่ปีนกำแพงข้ามมาได้ มันต้องแลกด้วยเลือดและความพยายาม ซึ่งผมหวังว่านี่จะเป็นการเปิดประตู จุดประกายความหวังให้กับวงการกีฬาของเรา และผมก็อยากให้นักกีฬาของเราหลายคนเดินตามมาด้วยกัน”

ณ วันนี้ สคูลลิง หอบเหรียญทองกลับถึงบ้านเกิด วันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมี โคลิน กับ เมย์ คุณพ่อ - คุณแม่ มารอรับลูกชายที่สนามบินชางฮี และประชาชนจำนวนมากมาต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมข่าวดีจาก อึง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศ เปิดไฟเขียวให้เจ้าตัวได้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่สำหรับการลุยทัวร์นาเมนต์อื่น ๆ เช่น เอเชียน เกมส์ 2018 ที่ อินโดนีเซีย และ โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฎหมายที่ระบุไว้สำหรับวัยรุ่นชายที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์

ความสำเร็จของ “ฮีโรสคูลลิง” ถือเป็นการจุดความหวังประเทศในกลุ่มอาเซียน ให้ริเริ่มคิดวีธีสร้างนักกีฬาของตัวเองก้าวสู่การหยิบเหรียญใน โอลิมปิก มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นคำถามสำคัญถึงประเทศไทย ว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะผลักดันนักกีฬาในหลาย ๆ ชนิดให้เร็วกว่านี้ เพราะอย่างที่ระบุว่า นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจของนักกีฬา ภาครัฐทั้งกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงสมาคมกีฬาต่าง ๆ ก็ต้องให้การสนับสนุนสุดกำลัง ลงทุนออกค่ากินอยู่ ส่งไปศึกษาต่างแดนตั้งแต่เด็ก เพราะนั่นคือพื้นฐานสำคัญของการสร้างนักกีฬามาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ซึ่งในเมืองไทย นักกีฬาบางชนิดแม้จะถูกส่งไปฝึกที่เมืองนอกในช่วงวัยรุ่น แต่ก็ดูจะสายเกินไป ดังนั้น กรณีของ สคูลลิง น่าจะทำให้สมาคมกีฬาบ้านเราต้อง “คิดใหม่ - ทำใหม่” ได้แล้ว
ลีลาในสระน้ำทั้งตอนเด็กและตอนโต
ถ่ายรูปกับ เฟลป์ส ฮีโร่ของตัวเองเมื่อปี 2008
เฟลป์ส ยอมรับความสามารถ
พ่อแม่มารับที่สนามบินอย่างอบอุ่น
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น