เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online - คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การสหประชาชาติเผย ในแต่ละปีโลกต้องการเม็ดเงินจำนวน 40,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.45 ล้านล้านบาท) สำหรับให้ความช่วยเหลือผู้คนด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นจากผลพวงของความขัดแย้งและภัยธรรมชาติ
โดยหนึ่งในความเป็นไปได้ที่คาดว่าจะช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ราว 15,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 545,250 ล้านบาท) คือการเรียกเก็บภาษีแบบสมัครใจจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล และกีฬาอื่นๆ ตลอดจนคอนเสิร์ต และมหกรรมด้านความบันเทิง ค่าตั๋วเครื่องบิน และการจำหน่ายน้ำมัน
รายงานของคณะทำงานชุดดังกล่าวว่าด้วยการจัดหาเงินช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ถูกเปิดเผยในวันอาทิตย์ (17 ม.ค.) โดยบัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติที่ดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยบันระบุ ในเวลานี้โลกจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในด้านนี้มากกว่า 12 เท่าตัวเมื่อเทียบกับยอดเงินช่วยเหลือจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกใช้จ่ายเพื่อมนุษยธรรมเมื่อปี ค.ศ. 2000
คณะทำงานที่นำเสนอรายงานความยาว 31 หน้าชุดดังกล่าว นำโดยนางคริสตาลินา จอร์จิเอวา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอีก 8 ราย
อย่างไรก็ดี นางจอร์จิเอวาออกมายอมรับที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม โดยระบุข้อเสนอของคณะทำงานของเธอที่ให้มีการเรียกเก็บภาษีแบบสมัครใจจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล และกีฬาอื่นๆ ตลอดจนคอนเสิร์ต และมหกรรมด้านความบันเทิง ค่าตั๋วเครื่องบิน และการจำหน่ายน้ำมัน เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นในการเพิ่มเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำหรับผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อภัยธรรมชาติ สงคราม และความขัดแย้งทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ทั่วโลก และเธอยอมรับว่ามีหลายประเทศซึ่งรวมถึงประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้วที่แสดงท่าทีคัดค้านการเรียกเก็บภาษีรูปแบบนี้อย่างแข็งขัน