เอเจนซีส์ - สื่อเฮลซิงกิไทม์สรายงานล่าสุด พบผู้ลี้ภัยชาวอิรักเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดที่ถอนการขอสิทธิลี้ภัยในฟินแลนด์ และแสดงความจำนงเดินทางกลับบ้านเกิดมากที่สุด โดยพบว่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยอิรัก 60 คนจากทั้งหมด 78 คนเดินทางกลับอิรัก และในเดือนพฤศจิกายนมีชาวอิรักจำนวน 72 คนจากทั้งหมด 111 คนบินกลับประเทศ หลังจากเปิดใจแดนนอร์ดิกไม่ใช่สวรรค์อย่างที่แก๊งค้ามนุษย์รับปาก
เฮลซิงกิไทม์ส สื่อฟินแลนด์รายงานการเมื่อวานนี้(9) ให้สัมภาษณ์ของทาเรค อาจัจ( Tareq Thajeel Ajaj) ผู้ลี้ภัยชาวอิรักที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง เมืองโอตานีมี (Otaniemi) จ.เอสปู (Espoo) ทางใต้ของฟินแลนด์ว่า ต้องเผชิญกับสภาพคล้ายตายทั้งเป็นในฟินแลนด์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มค้ามนุษย์ได้รับปากเอาไว้ ในขณะที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยอิรักเพิ่มมากขึ้นสมัครใจเดินทางกลับประเทศ โดยหน่วยงานผู้อพยพนานาชาติ IOM เป็นตัวกลางช่วยเหลือนำตัวกลับบ้าน
โดยอาจัจให้สัมภาษณ์หลังจากต้องทนอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพนานหลายเดือนว่า เขาต้องการกลับอิรักให้เร็วที่สุด และข่าวการป่วยหนักของพ่อที่บ้านทางเหนือของอิรักยิ่งเป็นตัวผลักดันทำให้มีความต้องการกลับบ้านมีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ลี้ภัยชายชาวอิรักคนนี้ย้ำว่า สิ่งที่ทำให้เขาต้องการกลับบ้านมากที่สุด หลังจากเดินทางมาถึงและพบว่าฟินแลนด์ไม่ใช่ประเทศในฝันเหมือนที่เคยได้ยินจากกลุ่มค้ามนุษย์ที่ช่วยให้เดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสำเร็จ
สื่อฟินแลนด์รายงานเพิ่มเติมว่า อาจัจรู้สึกเบื่อหน่ายทวีคูณเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะที่ต้องถูกจำกัดอยู่แต่ภายในศูนย์พักพิงโดยที่ไม่มีอะไรทำทั้งวัน รวมไปถึงอาหารพื้นเมืองที่มีรสชาดจืดชืดไม่ถูกปาก
“ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวผมในอิรัก แต่ทว่าผมรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็นในฟินแลนด์” อาจัจเปิดเผยความรู้สึก
สื่อฟินแลนด์รายงานเพิ่มเติมอีกว่า จากสถิติของ IOM พบว่าชาวอิรักเป็นผู้อพยพกลุ่มใหญ่ขอเดินทางกลับประเทศมากที่สุด โดยพบว่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวอิรัก 60 คนจากทั้งหมด 78 คนเดินทางกลับ และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่ามมา มีชาวอิรักจำนวน 72 คนจากทั้งหมด 111 คนเดินทางกลับประเทศ
ด้านจูเลีย อีวานส์ (Julia Evans) เจ้าหน้าที่ประสานงานร่วม IOM ในเฮลซิงกิ ให้สัมภาษณ์ว่า “มีผู้อพยพจำนวนมากพร้อมยอมสมัครใจเดินกลับบ้านเกิดในฤดูใบไม้ร่วงมากเป็นประวัติการณ์”
และสื่อฟินแลนด์ไทม์รายงานต่อว่า ดังนั้น IOM ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนบริษัททัวร์คอยประสานงานและจัดการนำตัวผู้อพยพที่ต้องการเดินทางกลับตะวันออกกลาง เดินทางออกจากฟินแลนด์ตามความต้องการหลังจากคนเหล่านั้นยื่นขอเพิกถอนใบคำร้องการลี้ภัย ซึ่งนโยบายการส่งกลับประเทศโดยสมัครใจเป็นนโยบายที่ริเริ่มมาจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองฟินแลนด์ ( Migri) โดยทางการฟินแลนด์เป็นผู้รับผิดชอบการเดินทางกลับประเทศของคนเหล่านั้น เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้บรรดาเจ้าหน้าที่ความมั่นคงผลักดันคนเหล่านั้นออกนอกประเทศนั้นดูเหมือนว่า การยอมส่งกลับเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
และเป็นที่เข้าใจว่านโยบายการส่งผู้อพยพกลับโดยสมัครใจนั้นดูเหมือนจะมาถูกทางแล้ว เพราะเมื่อเปรียบเทียบจากจำนวนผู้อพยพยินยอมเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความสมัครใจ พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะเพิ่มมากขึ้นในเดือนธันวาคมนี้
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้อพยพทั้งหมดที่เดินทางเข้าฟินแลนด์เพื่อขอสิทธิลี้ภัย ยังพบว่าจำนวนตัวเลขผู้สมัครใจเดินทางกลับบ้านเกิดยังคงต่ำอยู่มาก
ฟินแลนด์ไทม์รายงานเพิ่มเติมต่ออีกว่า ธาบีท อัล-อัสวาด (Thabeet Al-Aswad) ชายชาวอิรักจากกรุงแบกแดดเป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ หลังจากที่ต้องอาศัยทนอยู่แต่ภายในศูนย์พักพิงมาระยะหนึ่ง โดยกล่าวว่า เขารู้สึกเครียดและเหนื่อยหน่าย ไม่สามารถนอนหลับได้สนิทในเวลากลางคืนในศูนย์ผู้อพยพที่แน่นขนัด
“การให้ความช่วยเหลือที่ศูนย์แห่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวัง มันคงจะดีกว่านี้มากหากเราได้มีโอกาสมีงานทำเพื่อหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ และได้ใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป” อัล-อัสวาดกล่าว ทั้งนี้ชายอิรักจากกรุงแบกแดดผู้นี้อยู่ในฟินแลนด์มานาน 3 เดือนและต้องการกลับบ้านที่อิรักให้เร็วที่สุด
โดยเจ้าหน้าที่ IOM ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศนั้นหลากหลาย เป็นต้นว่า สถานการณ์ความตรึงเครียดในประเทศบ้านเกิดนั้นลดลง การได้รับข่าวร้ายจากญาติ การรอคอยการอนุมัติการได้สิทธิลี้ภัย ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว รวมไปถึงการนำญาติจากบ้านเกิด เช่น ในตะวันออกกลางเพื่อมาอาศัยอยู่ร่วมกันในฟินแลนด์ไม่ง่ายอย่างที่คิด
สื่อฟินแลนด์รายงานว่า นอกเหนือไปจากการช่วยรับภาระออกค่าใช้จ่ายในการส่งกลับประเทศ Migri ยังให้เงินแก่ผู้อพยพเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวเล็กน้อยเป็นต้นว่า ชาวอิรักได้รับเงินจำนวน 50-100 ยูโร แต่ยังมีรายงานว่ามีผู้อพยพบางส่วนที่สมัครใจเดินทางกลับแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเงินค่าใช้จ่ายจากทางเฮลซิงกิ
ทั้งนี้ไม่ใช่แต่ฟินแลนด์เป็นประเทศเดียวที่ต้องการผลักดันให้ผู้ลี้ภัยสมัครใจกลับประเทศ เพราะล่าสุดนอร์เวย์เป็นอีกประเทศที่ทุ่มเงินจำนวนหลายหมื่นโครเนอร์ในการส่้งผู้ลี้ภัยกลับประเทศเกิดอย่างสมัครใจ
ซึ่งดิอินดีเพนเดนต์ สื่ออังกฤษ รายงานเพิ่มเติมในวันจันทร์(ึ7)ว่า ผู้ลี้ภัยสามีภรรยาที่มีบุตร 2 คนจะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 80,000 โครเนอร์ หรือราว 6,200 ปอนด์ นอกเหนือจากค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น