ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - ขยายความวิตกไปทั่วไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬาสำหรับ “ไวรัส ซิกา” อย่างไรก็ตามฝ่ายจัดการแข่งขัน โอลิมปิก ริโอ เกมส์ เชื่อมั่นว่าเมื่อถึงช่วงแข่งขันจริงระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้สถานการณ์น่าจะคลี่คลายและควบคุมได้
ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเชื่อว่าคนบราซิลมากกว่า 1.5 ล้านคนติดเชื้อ “ไวรัส ซิกา” ที่มียุงเป็นพาหะ แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ตามไวรัสชนิดนี้จะเชื่อมโยงกับเด็กที่อยู่ในครรภ์พร้อมกับก่อให้เกิดข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเจริญเติบโต โดยทารกที่ลืมตาดูโลกจะมีศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly) ด้านคนที่มีอาการมากภูมิคุ้มกันจะถูกโจมตีระบบประสาทมีปัญหาส่งผลให้ผู้ป่วยอ่อนแรงและบางครั้งกลายเป็นอัมพาต บ้างเสียชีวิตก็มี แต่ถ้าโชคดีก็ฟื้นตัวได้ทัน
"ไวรัส ซิกา" ถูกค้นพบครั้งแรกในยูกันดาเมื่อปี 1947 แต่ถือเป็นเชื้อโรคที่ไม่ร้ายแรงจนกระทั่งมีการระบาดในละตินอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว โดย บราซิล เป็นประเทศแรกที่ตระหนักถึงอันตรายของไวรัสชนิดนี้ จนในที่สุดสาธารณสุขมองว่าเป็นสถานการณ์เลวร้าย เพราะมีทารกที่สงสัยว่าอาจมีภาวะผิดปกติถึง 4,000 คน ซึ่ง 270 คนได้รับการยืนยันแล้วเพิ่มขึ้นจาก 147 คนในปี 2014
การระบาดของ "ไวรัส ซิกา" เวลานี้กำลังสร้างความแตกตื่นไปทั่วทวีปอเมริกา โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อถึง 4 ล้านคนในปีนี้ บรรดาชาติและดินแดนในละตินอเมริกา อย่าง โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ จาเมกา และเปอร์โตริโก ต่างเตือนผู้หญิงหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ ขณะที่ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ก็แนะนำสตรีมีครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่ "ไวรัส ซิกา" ระบาดอยู่ขนาดนี้เป็นการดีที่สุด
ตอนนี้ "ไวรัส ซิกา" ยังไม่มียารักษา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างวินิจฉัยและพัฒนาวัคซีน อาการโดยทั่วไปคือมีไข้และผื่นคัน กระนั้นก็ตามเมื่อมหกรรมกีฬา โอลิมปิก เปิดฉากต้นเดือนสิงหาคมคือฤดูหนาวที่ไม่ใช่ช่วงแพร่พันธุ์ของยุงจึงน่าจะเบาใจ
เจา กรานเกโร หัวหน้าทีมแพทย์ ริโอ 2016 เผยว่า "จำนวนประชากรยุง ณ เวลานั้นจะตกลงอย่างมาก ส่วนผู้ที่ป่วยก็น่าจะลดลงในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้" ส่วน มาริโอ อันดราดา กระบอกเสียงของ โอลิมปิก แดนกาแฟ เสริมว่า "เราค่อนข้างแน่ใจว่าจะเอาชนะไวรัสชนิดนี้และไม่ส่งผลกระทบต่อนักกีฬารวมถึงการแข่งขันแน่นอน"
อย่างไรก็ตามกันไว้ดีกว่าแก้ กรานเกโร แนะนำถึงวิธีป้องกันง่ายๆ ว่าควรที่จะใช้สเปรย์กันยุงและปิดหน้าต่างรวมถึงประตูที่พักอาศัยให้มิดชิด นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงใช้ยาฉีดพ่นบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำขังรวมถึงสระว่ายน้ำ
ฌาคส์ วากเนอร์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ ของบราซิล พยายามลดกระแสความกังวล โดยยืนยันว่าผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องวิตกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเตือนว่าผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรที่จะเดินทางไป เพราะอาจติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ด้าน องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู (WHO) ก็ดูจะตื่นตัวกับ "ไวรัส ซิกา" นี้มากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ถูกตำหนิจนต้องออกมายอมรับว่าตอบสนองล่าช้าเกินไปตอนที่เกิดการระบาดของโรคอีโบลา ซึ่งในที่สุดทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 11,000 คนในแอฟริกาตะวันตกนับจากปลายปี 2013
ขณะที่นักกีฬารายแรกๆ ที่ออกมาแสดงความกังวลคือ ลิเดีย โค นักกอล์ฟสาวมือ 1 ของโลกจาก นิว ซีแลนด์ วัยแค่ 18 ปีที่ฤดูกาล 2015 ระเบิดฟอร์มยอดเยี่ยมคว้าแชมป์เมเจอร์แรกในชีวิตคือ "เอเวียง แชมเปียนชิป" โดยบอก ณ เวลานี้ยังไม่คิดถอนตัวแต่ก็จะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ลิเดีย โค เผยว่า "อย่างแรกเลยคือเราต้องคิดถึงผู้คนที่อยู่ที่นั่น ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ มากกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการแข่งขัน โอลิมปิก ซึ่งมันชัดเจนที่สุดตรงที่ฉันหวังว่าทุกคนจะปลอดภัย บางอย่างมันก็เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แถมยังมีเวลาอีก 8 เดือนจนกว่าจะถึงการแข่งขัน โอลิมปิก มีบางสิ่งที่เราต้องคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด และฉันแน่ใจว่าทั้งหมดคือสิ่งที่เราพอจะทำได้ในตอนนี้"
สำหรับกีฬากอล์ฟใน โอลิมปิก นั้นเคยถูกบรรจุแค่ 2 ครั้งเท่านั้นและต้องรอถึง 112 ปีจึงกลับมาชิงชัยกันอีกครั้ง ดังนั้นผู้เล่นระดับโลกหรือมืออาชีพทุกคนไม่อยากพลาดโอกาสที่เรียกได้ว่าชาติหนึ่งมีแค่ครั้งเดียวที่จะเติมเต็มความฝันหรือนำไปเล่าจวบชั่วลูกชั่วหลาน ส่วนกอล์ฟนั้นต้องระวังเป็นพิเศษเพราะสนามอยู่ใกล้บ่อน้ำขนาดใหญ่
เรื่อง สรเดช เพชรแสงใสกุล