เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เตรียมขอให้สภาคองเกรสอนุมัติเงินทุนฉุกเฉินกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อสู้ไวรัสซิกาซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ
จำนวนผู้ติดเชื้อโรคซึ่งมียุงลายเป็นพาหะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคละตินอเมริกา ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าสภาพอากาศที่อุ่นสบายในฤดูใบไม้ผลิอาจยิ่งทำให้เชื้อแพร่ระบาดหนักทางตอนเหนือของแม่น้ำรีโอแกรนด์ ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ กับเม็กซิโก
ทำเนียบขาวแถลงว่า รัฐบาลต้องการเงินทุนอย่างเร่งด่วนเพื่ออุดหนุนโครงการขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย งานวิจัยเพื่อคิดค้นวัคซีน ตลอดจน “ยุทธศาสตร์ที่จำเป็นอื่นๆ” ในการต่อสู้ไวรัสชนิดนี้
แม้จะยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าไวรัสซิกาอาจทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิต แต่เชื่อกันว่าไวรัสตัวนี้มีส่วนเชื่อมโยงกับภาวะศีรษะเล็ก (microcephaly) และความพิการแต่กำเนิดของทารก
ปัจจุบันยังไม่มีทั้งวัคซีนป้องกันหรือตัวยาที่จะรักษาโรคนี้ได้ ทว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็มักมีอาการไม่รุนแรง
แม้ผู้นำสหรัฐฯ จะเรียกร้องขอเงินทุนต่อสู้ไวรัสซิกา แต่ก็เตือนประชาชนว่าไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป
“ข่าวดีก็คือ ไวรัสชนิดนี้ไม่อันตรายเท่าเชื้ออีโบลา ยังไม่มีใครเสียชีวิตเพราะไวรัสซิกา บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว” โอบามาให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส
“ประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับไวรัสชนิดนี้ก็คือ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตร”
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของไวรัสซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเริ่มระดมเงินทุนและทรัพยากรเพื่อต่อต้านการแพร่กระจายของเชื้อชนิดนี้
แอนโธนี โฟซี หัวหน้าสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Institutes of Health) แถลงว่า โอกาสที่จะนักวิทยาศาสตร์จะค้นพบวัคซีนป้องกันไวรัสซิกามีความเป็นไปได้สูง และคาดว่าจะเริ่มทดลองขั้นต้นได้ “ในฤดูร้อนปีนี้”
“ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าคงจะยังไม่สามารถผลิตวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย แต่ในแง่ของการศึกษาทดลองจะมีความคืบหน้าอย่างแน่นอน”
ระหว่างนี้ รัฐบาลบางประเทศได้ใช้วิธีเตือนให้สตรีเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไปก่อน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยแห่งทวีปอเมริกา (Pan-American Health Organization) ระบุว่า พบการระบาดของไวรัสซิกาแล้วใน 26 ประเทศ ครอบคลุมระยะทาง 7,000 กิโลเมตรตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงปารากวัย
ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดก็คือ บราซิล ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในเดือน ส.ค. กระแสตื่นกลัวไวรัสทำให้สเปรย์กำจัดยุงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผู้ผลิตยาฆ่าแมลงหลายบริษัทในแดนแซมบ้ายอมรับว่า ยอดขายระหว่างเดือน ธ.ค. ปี 2015 จนถึงเดือน ม.ค.ปีนี้ เพิ่มขึ้นเกือบ 800% ขณะที่ร้านขายยาบางแห่งระบุว่าสเปรย์กันยุงบางยี่ห้อเริ่มขาดตลาด