xs
xsm
sm
md
lg

ผวาไวรัสซิการะบาดรวดเร็ว! WHO เรียกประชุมฉุกเฉิน คาดจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รัฐบาลชิลีแจกจ่ายแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสซิกาแก่ประชาชน ณ สนามบินนานาชาติในกรุงซันติอาโก ขณะที่โรคนี้กำลังระบาดในแถบละตินอเมริกา
เอเอฟพี - ไวรัสซิกากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในทวีปอเมริกา ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเผยในวันพฤหัสบดี (28 ม.ค.) ด้วยคาดหมายว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน ขณะที่หน่วยงานสหประชาชาติแห่งนี้ต้องเรียกประชุมฉุกเฉินต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อสรุปว่ามันเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่

นางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกประชุมฉุกเฉินในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้ทารกมีภาวะพิการตั้งแต่กำเนิด ในนั้นรวมถึงโรคศีรษะเล็ก โดยทารกที่คลอดในมารดาที่ติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์จะมีศีรษะเล็กผิดปกติ

“ระดับของสัญญาณเตือนสูงลิ่ว” นางชานบอก พร้อมเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกในวันจันทร์หน้า จะเป็นการหาข้อสรุปว่าโรคระบาดนี้เข้าคุณสมบัติของภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่ “ไวรัสนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในทวีปอเมริกา ซึ่งประเทศและดินแดนต่างๆ 23 แห่งมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อ”

มาร์กอส เอสปินัล หัวหน้าฝ่ายโรคติดต่อและวิเคราะห์สุขภาพขององค์การอนามัยโลกประจำสำนักงานอเมริกา คาดหมายว่าภูมิภาคนี้อาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา 3 ถึง 4 ล้านคน แต่ไม่ได้ให้กรอบเวลาที่การแพร่ระบาดจะพุ่งไปถึงระดับนั้น

หลังจากเบื้องต้นพบไวรัสชนิดนี้ในลิงตัวหนึ่งในป่าซิกา ของยูกันดาในปี 1947 โรคติดต่อนี้ก็สงบไป แต่ก็ก่ออาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ในมนุษย์บ้างเป็นบางครั้งบางคราว ซึ่งไม่น่ากังวลเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ชานบอกว่า “สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนั้นต่างออกไปอย่างฉับพลัน”

ชานย้ำถึงความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีความเป็นไปได้ที่ซิกาอาจเกี่ยวข้องกับโรคศีรษะเล็กแต่แรกคลอดและความผิดปกติทางระบบประสาทที่เรียกว่ากลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร “ความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อไวรัสซิกากับภาวะพิการตั้งแต่แรกคลอดและความผิดปกติทางระบบประสาทยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็มีข้อสงสัยที่หนักแน่น”

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนขององค์การอนามัยโลกเผยว่า การเรียกประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับไวรัสซิกาในวันจันทร์หน้า ส่วนหนึ่งก็เพื่อรับประกันว่าเจ้าหน้าที่ประเทศต่างๆ จะไม่กำหนดข้อจำกัดด้านการค้าและการเดินทางอย่างไม่เหมาะสม “หนึ่งเรื่องสำคัญที่ทางผู้อำนวยการตัดสินใจเรียกประชุม ก็คือเพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการใช้มาตรการที่ไม่เหมาะสมในหมู่ชาติสมาชิกในด้านการเดินทางและการค้า” บรูซ เอลวาร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกระบุ

เอสปินัลเตือนว่าซิกาสามารถไปได้ในทุกหนทุกแห่งที่มียุง “เราต้องยอมรับเรื่องนี้ เราไม่ควรรอจนกระทั่งมันแพร่ระบาดไปทั่ว” โดยชี้ว่าไวรัสซิกาแตกต่างจากอีโบลา เนื่องจากมันจำเป็นต้องมีพาหะนำโรค ดังนั้นการควบคุมยุงจึงมีความสำคัญยิ่งในการควบคุมการระบาด

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกคาดหมายว่าซิกาจะแผ่ลามไปในทุกประทศของทวีปอเมริกา ยกเว้นแคนาดากับชิลี ขณะที่เวลานี้บราซิลคือชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนไปยังรีโอเดจาเนโรในเดือนสิงหาคม

ในบราซิลพบเด็กแรกคลอดที่มีภาวะพิการแต่กำเนิดที่เชื่อว่ามีผลมาจากการติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วอย่างน้อย 3,718 ราย นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้พุ่งขึ้นผิดปกติทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศในเดือนตุลาคม ในนั้นมีเด็กเสียชีวิต 49 ราย หลังจากก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยแล้วแค่ปีละราวๆ 160 คนเท่านั้น

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือวิธีรักษาผู้ติดเชื้อซิกา ที่มีอาการคล้ายไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา โดยทำให้เกิดไข้อ่อนๆ เป็นผื่นคัน และตาแดง ผู้ติดเชื้อราว 80% ไม่แสดงอาการ ทำให้ยากที่สตรีมีครรภ์จะรับรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่

นอกจากในภูมิภาคที่กำลังเกิดการระบาดแล้ว เวลานี้ยังเริ่มพบผู้ติดเชื้อที่อยู่นอกภูมิภาคเหล่านั้นด้วย โดยเป็นผู้ที่เคยเดินทางไปยังประเทศซึ่งมีการระบาด เช่น โปรตุเกสพบผู้ติดเชื้อ 5 คน และทั้ง 5 เพิ่งเดินทางกลับจากบราซิล นอกจากนั้นยังพบผู้ติดเชื้อในลักษณะนี้ 8 คนในสหรัฐฯ คือ 4 คนที่นิวยอร์ก และในแคลิฟอร์เนีย, มินนิโซตา, เวอร์จิเนีย และอาร์คันซอส์ รัฐละ 1 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น