รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลก (ฮู) จัดประชุมพิเศษในวันพฤหัสบดี (28 ม.ค.) หาทางรับมือเชื้อไวรัส “ซิกา” หลังถูกกดดันอย่างหนัก ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัสชนิดนี้ที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกนับพันรายในบราซิล อีกทั้งกำลังระบาดอย่างหนักในละตินอเมริกาและแคริบเบียน นอกจากนั้นยังพบผู้ติดเชื้อนอกภูมิภาคเหล่านี้ด้วย
มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ของฮู เรียกประชุมวาระวิสามัญของคณะกรรมการบริหารองค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติแห่งนี้ ในวันพฤหัสบดี (28) ที่นครเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหารือมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของไวรัสซิกา ที่มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti mosquito) เป็นพาหะ และเชื่อมโยงกับอาการผิดปกติแต่กำเนิดของทารก แบบที่เรียกว่า “ภาวะศีรษะเล็ก”
ขณะเดียวกัน หลายประเทศก็ออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อพยายามหยุดยั้งการระบาดของไวรัสชนิดนี้ เช่น เมื่อวันพุธ (27) สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) เผยว่า กำลังร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล รวมทั้งสถาบันจัดเก็บโลหิตและองค์กรทางอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินมาตรการ “ยืดเวลา” ก่อนจะยอมรับโลหิตจากผู้บริจาคที่เพิ่งเดินทางกลับจากภูมิภาคที่ไวรัสซิการะบาด ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันซัปพลายโลหิตภายในสหรัฐฯ
ส่วนที่บราซิล ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ ประกาศทำสงครามกับยุงลายบ้านที่เป็นพาหะของไวรัสซิกา โดยเน้นที่การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชนิดนี้คือแหล่งที่มีน้ำขัง โดยปกติแล้ว ยุงลายบ้านชอบอาศัยอยู่ในเมืองเขตร้อนที่แออัด
ทางด้านภาคเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ลาตัม แอร์ไลนส์ สายการบินใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา เสนอคืนค่าตั๋วหรือเปลี่ยนจุดหมายปลายทางแก่สตรีมีครรภ์และผู้ร่วมเดินทาง ซึ่งได้สำรองตั๋วเพื่อเดินทางไปยังบราซิล โคลอมเบีย เม็กซิโก และประเทศอื่นๆ ที่ไวรัสซิการะบาด
เช่นเดียวกัน ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ของสหรัฐฯ ขยายโครงการในการอนุญาตให้ลูกค้าที่จองตั๋วเครื่องบินไปยังภูมิภาคที่ไวรัสนี้ระบาด เลื่อนกำหนดการเดินทางหรือรับเงินคืนโดยไม่มีค่าปรับ
นอกจากนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในสหรัฐฯ ยังเรียกร้องผ่านบทความตีพิมพ์ในวารสารของแพทยสมาคมอเมริกัน ให้องค์การอนามัยโลกดำเนินมาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและโรคติดเชื้อฉุกเฉินเพื่อพิจารณาการประกาศว่า ซิกาเป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ร้ายแรงและอันตราย โดยบทความนี้เตือนให้ ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ของฮู สรุปบทเรียนจากวิกฤตอีโบลา
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ผู้นำฮูยอมรับว่าดำเนินการผิดพลาดร้ายแรง โดยชักช้าเกินไปในการจัดการวิกฤตโรคอีโบลา ซึ่งแม้ระบาดหนักในสามประเทศแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน
นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า ความล่าช้าในการรับมือของฮูมีบทบาทสำคัญที่ทำให้โรคนี้ลุกลามอย่างรวดเร็ว และถือเป็นการระบาดรุนแรงที่สุดของอีโบลาเท่าที่เคยเกิดขึ้น
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือวิธีรักษาผู้ติดเชื้อซิกา ที่มีอาการคล้ายไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา โดยทำให้เกิดไข้อ่อนๆ เป็นผื่นคัน และตาแดง ผู้ติดเชื้อราว 80% ไม่แสดงอาการ ทำให้ยากที่สตรีมีครรภ์จะรับรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่
2 นักวิชาการของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ คือ ดร.แดเนียล ลูซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และลอว์เรนซ์ กอสติน ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านอนามัยโลก คาดการณ์การระบาดของซิกาไว้ในบทความในวารสารของแพทยสมาคมอเมริกันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ไวรัสชนิดนี้ระบาดข้ามพรมแดนโดยมีพาหะคือมนุษย์นักเดินทาง ที่เดินทางจากบราซิลไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
บทความชิ้นนี้ยังระบุว่า การจัดประชุมฉุกเฉินของฮูจะช่วยดึงดูดความสนใจสำหรับการระดมเงินทุนและการวิจัย ตลอดจนนำไปสู่การร่วมมือระดับโลกในการให้คำแนะนำในการเดินทาง การจัดลำดับความสำคัญในการวิจัย และมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อ
นอกจากในภูมิภาคที่กำลังเกิดการระบาดแล้ว เวลานี้ยังเริ่มพบผู้ติดเชื้อที่อยู่นอกภูมิภาคเหล่านั้นด้วย โดยเป็นผู้ที่เคยเดินทางไปยังประเทศซึ่งมีการระบาด เช่น โปรตุเกสพบผู้ติดเชื้อ 5 คน และทั้ง 5 เพิ่งเดินทางกลับจากบราซิล นอกจากนั้นยังพบผู้ติดเชื้อในลักษณะนี้ 8 คนในสหรัฐฯ คือ 4 คนที่นิวยอร์ก และในแคลิฟอร์เนีย, มินนิโซตา, เวอร์จิเนีย และอาร์คันซอส์ รัฐละ 1 คน