สสจ.อุดรฯ รายงานครอบครัวผู้ป่วยซิกาได้รับเชื้อ เผยอาการดีขึ้น ไร้การแพร่เชื้อต่อ สธ. สั่ง รพ. ทุกแห่งเดินหน้ากำจัดยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ทุกวันศุกร์ ก่อนการระบาดหน้าฝน หวังลดโรคไข้เลือดออก ซิกา ชิคุนกุนยา พร้อมประสานทุกกระทรวงร่วมมือ
วันนี้ (9 ก.พ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) เพื่อขอให้รณรงค์กวาดล้างยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ว่า การกำจัดยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์จะลดโรคได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จึงกำชับ นพ.สสจ. และ ผอ.รพ. ทุกระดับในสังกัด สธ. ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเน้นการตรวจวินิจฉัยเร็ว และให้เฝ้าระวังใน 5 กลุ่ม คือ 1. ผู้ที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศเสี่ยง 26 ประเทศ 2. หญิงตั้งครรภ์ที่มีไข้ออกผื่น 3. คนไข้เป็นกลุ่มก้อน โดยมีอาการ 2 ใน 3 ให้เฝ้าระวัง คือ ไข้ผื่น ปวดข้อ ตาแดง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ให้ระวังเรื่องตาแดงที่ไม่มีขี้ตาร่วมกับอาการออกผื่นด้วย และ 5. กลุ่มอาการเส้นประสาทอักเสบ
นพ.โสภณ กล่าวว่า การกำจัดยุงลายได้กำชับ รพ. ให้ดำเนินมาตรการ 5 ส. 3 เก็บ โดย “5 ส.” คือ 1. สะสาง เก็บข้าวของให้ปลอดโปร่ง 2. สะดวก จัดวางหรือจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ 3. สะอาด การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เรียบร้อย 4. สร้างมาตรฐาน คือ รักษามาตรฐาน 3 ส. แรกให้ดี และ 5. สร้างวินัย ปฏิบัติตามมาตรฐาน กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ และ “3 เก็บ” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ โดยมาตรการเหล่านี้ขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สธ. ทำทุกวันศุกร์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. - 13 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงแล้ง ยุงมีจำนวนน้อย หากลดได้ก็จะลดโรคได้ในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงระบาด และในทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ขอให้บุคลากรในสังกัดไปจัดการที่บ้านด้วย ซึ่งทั้งหมดจะมีรางวัลให้แต่ละเขตที่ดำเนินการควบคุมโรคจากยุงลายได้ดี
นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะทำหนังสือถึงปลัดทุกกระทรวงเพื่อขอความร่วมมือควบคุมปริมาณลูกน้ำยุงลาย เพื่อลด 3 โรคดังกล่าว เช่น กระทรวงศึกษาธิการ จะมีการหารือร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ ในการขอให้เด็กนักเรียนช่วยกันสำรวจลูกน้ำยุงลาย และร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ซึ่งเด็ก ๆ จะได้รับความรู้และไปดำเนินการต่อที่บ้านได้ เป็นต้น และอยากฝากว่าไม่ควรกังวลแค่ซิกา เพราะไข้เลือดออกยังเป็นปัญหา และคาดการณ์ว่า ปีนี้จะระบาดรุนแรงถึง 1.6 แสนคน ที่สำคัญไข้เลือดออกอันตรายถึงชีวิต แต่ซิกาจะรุนแรงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า พื้นที่ กทม. จะมีอีกทางเลือกโดยการใช้แอปพลิเคชัน “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ซึ่งจะมีข้อมูลให้ความรู้เรื่องยุงลาย วิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นต้น ซึ่งก็จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายนั้นขอให้ยึดถึงโรคพื้นฐานอื่น ๆ ก่อน โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพราะมีอันตารายถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่าเพิ่งไปตระหนกกับซิกาอย่างเดียว ส่วนถ้าพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาจริงก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก จนต้องไปยุติการตั้งครรภ์ ขอ ให้รอเกณฑ์การวินิจฉัยจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ โดยการจะตรวจเด็กทารกนั้น ต้องดูทั้งเกณฑ์อาการ การเจาะน้ำคร่ำ การอัลตราซาวนด์ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในการประชุมได้มีการพูดถึงเคสผู้ป่วยอื่น ๆ ที่พบในประเทศไทย ว่า หลังจากพบผู้ป่วยรายแรกที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกานั้น นพ.สสจ.อุดรธานี ได้รายงานว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการดีขึ้น และมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง จนพบว่า ญาติในบ้านเดียวกัน มีการติดเชื้อเช่นกัน แต่เบื้องต้นอาการดีขึ้นแล้ว ไม่มีการแพร่เชื้อไปยังครอบครัวอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังพบที่จ.พิษณุโลก แต่ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งหมดอาการดีขึ้น ทั้งนี้ มีคำถามจากทางนพ.สสจ.นครปฐม ซึ่งกังวลว่ามีผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ เข้ามาด้วยอาการที่มีข้อบ่งชี้เป็นซิกา แต่ล่าสุดไม่ใช่โรคดังกล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่