xs
xsm
sm
md
lg

ระดมผู้เชี่ยวชาญไวรัสเฝ้าระวัง “ไข้ซิกา” เตือนคนท้องต้องระวัง ยันไทยยังไม่ระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ระดมผู้เชี่ยวชาญไวรัส - ระบาดวิทยา เฝ้าระวังโรคซิกา วันที่ 4 ก.พ. หลังตรวจพบเชื้อในคนไทยที่ไปไต้หวัน ชี้ วินิจัยโรคยาก เหตุคล้ายไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา สมองอักเสบ ด้าน “หมอยง” ชี้ ไทยยังไม่มีการระบาด พบเป็นราย ๆ เผย 3 ปี เจอเพียง 8 ราย กรมควบคุมโรคเตือนตั้งครรภ์ต้องระวัง

วันนี้ (30 ม.ค.) ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Thiravat Hemachudha” ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญทางไวรัสวิทยา และระบาดวิทยา เพื่อเฝ้าระวังโรคนี้ แม้ไข้ซิกา จะพบในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งพบข่าวว่า มีคนไทยไปไต้หวันและตรวจพบเชื้อดังกล่าวอีก ปัญหาคือ โรคนี้ไม่แสดงอาการเด่นชัด จนทำให้การวินิจฉัยโรคค่อนข้างยาก  เพราะถึงแม้จะตรวจเลือด เพื่อดูภูมิคุ้มกันก็ค่อนข้างแยกยากกับเชื้อไวรัสเด็งกี ที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก การจะแยกโรคจึงอยู่ที่วิธีการตรวจด้วย  PCR หรือตรวจระดับสารพันธุกรรม จากการแยกโรคที่ค่อนข้างยาก ทำให้ สธ.จะมีการประชุมหารือในสัปดาห์หน้า

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาคือ ไม่รู้ว่าขณะนี้ไข้ซิกาในประเทศไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นหรืออยู่ตัวแล้ว เนื่องจากวิธีการตรวจหาไข้ซิกาค่อนข้างยาก เพราะการดูจากภูมิคุ้มกันในเลือดจะแยกไม่ได้ว่าเป็นไข้ซิกา หรือไข้เลือดออก หรือโรคสมองอักเสบเจอี (JE)  อีกทั้ง ไข้ซิกา เป็นกลุ่มอาการที่ก้ำกึ่งกับไวรัสกลุ่มเดียวกัน ทั้งไข้เลือดออก หรือแม้แต่โรคชิคุนกุนยา คือ มีอาการปวดข้อปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ เรียกว่าไข้ซิกามีลักษณะคล้ายนักเลียนแบบ อย่างไรก็ตาม  โดยปกติโรคนี้จะพบในแถบแอฟริกา แต่ในปี 2550 กลับพบโรคนี้ในเกาะแยพ (Yap) ประเทศไมโครนีเซีย กระทั่งปี 2555 พบในประเทศไทย และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรายงานผู้ป่วยที่ผ่านมาไม่ได้พบมากนัก แต่ก็เกิดคำถามว่า เพราะแยกโรคไม่ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ทางกรมควบคุมโรค (คร.) จึงเตรียมประชุมเพื่อหารือผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และระบาดวิทยาในการหารือเตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ

“มีรายงานในบราซิล ว่า พบเด็กทารกมีความผิดปกติทางสมอง โดยศีรษะเล็กแต่กำเนิด แคระแกร็น มีพัฒนาการช้า ซึ่งเมื่อสอบสวนโรคมีความเกี่ยวพันกับมารดา เนื่องจากป่วยเป็นไข้ซิกาด้วย ทางบราซิลจึงออกประกาศขอให้ในช่วงปี 2559 หยุดการตั้งครรภ์ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกจะพิการ จนกว่าจะควบคุมการระบาดของไข้ซิกานั่นเอง ซึ่งขณะนี้ในบราซิลพบเด็กที่มีภาวะศีรษะลีบแล้วกว่า 4,000 ราย สำหรับประเทศไทยนั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคแล้ว เพียงแต่ประชาชนทั่วไปก็ต้องติดตาม สังเกตอาการว่า หากมีไข้ และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย 2 - 3 สัญญาI เช่น มีไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้ซิกา และให้รีบพบแพทย์ทันที” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิตประเภทวิชาแพยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Yong Poovorawan ถึงเรื่องไวรัสซิกา ว่า ถึงแม้จะมีการพบ ซิกา บ้างในประเทศไทย ถ้านับจำนวนแล้วก็เป็น 8 รายในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ พยายามตรวจสอบผู้ป่วยทุกคนที่มีไข้เฉียบพลัน อาการเหมือนไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลายมานานกว่า 2 ปีแล้ว เป็นจำนวนกว่า 200 คน ที่มีอาการไข้เฉียบพลันคล้ายไข้เลือดออก แต่ยังไม่ได้มีการระบาด มีการพบเป็นราย ๆ (Sporadic) อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเตรียมการรับมือ ถ้ามีการระบาดเกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคที่เข้มแข็งมาก  และสถานพยาบาลทุกแห่งได้มีการรายงานมาทางกรมควบคุมโรคตลอดว่า พบโรคหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคแต่อย่างใด ที่สำคัญองค์การอนามัยโลกยังไม่มีประกาศอะไรออกมา แต่ไม่ใช่ว่านิ่งนอนใจ เนื่องจากองค์การอนามัยโลกเตรียมที่จะประชุมหารือในเร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับการออกมาตรการเฝ้าระวัง ซึ่งไทยก็ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงสำหรับหญิงตั้งครรภ์  ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในโรคต่าง ๆ อยู่แล้ว ไม่เพียงแต่โรคไข้ซิกา เพราะหากป่วยเป็นหัดเยอรมัน หรือติดพยาธิ ก็ย่อมมีผลต่อเด็กในท้องด้วย ดังนั้น ช่วงตั้งครรภ์จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ รวมทั้งไข้เลือดออกในปีนี้ก็ต้องระวังด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น