รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลกเมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) ประกาศให้ไวรัสซิกา ซึ่งมียุงเป็นพาหะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ขณะที่โรคติดต่อนี้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับภาวะพิการแต่แรกคลอดของทารกหลายพันคนในบราซิลกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
นางมาร์กาเรต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การตอบสนองภายใต้ความร่วมมือระดับนานาชาติเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปรับปรุงส่งเสริมการตรวจหาผู้ติดเชื้อ เร่งมือด้านการพัฒนาวัคซีนและการวินิจฉัยโรคที่ดีกว่าเดิม แม้ยังไม่จำเป็นต้องออกข้อจำกัดด้านการค้าและการเดินทาง
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นไปตามคำแนะนำของเหล่าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระที่มีต่อหน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อท่าทีตอบสนองที่ดูลังเลใจ ขณะที่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยให้ปฏิบัติการนานาชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วและช่วยจัดลำดับความสำคัญของการวิจัย
“สมาชิกของคณะกรรมการเห็นพ้องว่าสถานการณ์เข้าเงื่อนไขต่างๆ สำหรับความกังวลด้านสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ฉันยอมรับคำปรึกษานี้” ชานกล่าว
องค์การอนามัยโลกระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไวรัสซิกากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในทวีปอเมริกา ด้วยคาดหมายว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน ขณะที่บราซิลมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่รีโอเดจาเนโรในเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเคยถูกโจมตีอย่างหนัก ต่อกรณีมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ล่าช้าต่อการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 10,000 ราย ดังนั้นเลยให้คำสัญญาว่าจะทำให้ดีกว่าเดิมถ้าเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขโลกขึ้นอีก
โธมัส เฟรเดน หัวหน้าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ เรียกร้องให้โลกร่วมมือจัดการกับการระบาดของซิกา ส่วนเฌเรมี ฟาร์าร์ ผู้อำนวยการองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาสุขภาพ Wellcome Trust ระบุว่า “องค์การอนามัยโลกเคยถูกวิจารณ์ต่อการปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเกินไปกว่าจะประกาศให้อีโบลาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข พวกเขาควรได้รับเสียงยินดีต่อความเคลื่อนไหวเชิงรุกมากกว่าเดิมในคราวนี้”
ในบราซิล มีรายงานพบกรณีต้องสงสัยเด็กทารกมีความผิดปกติทางสมอง โดยศีรษะเล็กแต่กำเนิด แคระแกร็น มีพัฒนาการช้า เกือบ 4,000 กรณี ด้วยกระทรวงสาธารณสุขเชื่อมโยงอาการดังกล่าวกับไวรัสซิกา แม้ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด ในเรื่องนี้ ชานบอกว่า “พบข้อสงสัยว่ามันมีความเชื่อมโยงกันอย่างหนักแน่น แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์”
มาร์เซโล คาสโตร รัฐมนตรีสาธารณสุขบราซิลบอกกับรอยเตอร์ว่า โรคระบาดนี้อยู่ในสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เชื่อกัน เพราะว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ทำให้ยากที่สตรีมีครรภ์จะรับรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่
ขณะที่ไวรัสกำลังแผ่ลามออกนอกบราซิล เหล่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาก็ดูเหมือนจะพบกรณีทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิดอันเกี่ยวข้องกับซิกาเช่นกัน
องค์การสาธารณสุขแพนอเมริการะบุว่า ตอนนี้ซิกากำลังแพร่ระบาดในประเทศและดินแดนต่างๆ ในทวีปอเมริกากว่า 24 แห่ง นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในกาบูเวร์ดีตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน
ไวรัสซิกาก่อคำถามไปทั่วโลกว่าสตรีตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ที่กำลังมีการแพร่ระบาดหรือไม่ ในเรื่องนี้ ชานบอกว่า หญิงตั้งท้องควรพิจารณาเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินทางจริงๆ ก็ให้ใช้มาตรการต่างๆสำหรับป้องกันตนเอง ในนั้นรวมถึงใช้ยากันยุง
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือวิธีรักษาผู้ติดเชื้อซิกาที่มีอาการคล้ายไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา ซึ่งทำให้เกิดไข้อ่อนๆ เป็นผื่นคัน และตาแดง ทั้งนี้ด้วยที่มันมียุงลายเป็นพาหะ ได้ก่อความกังวลว่าไวรัสซิกาจะแพร่ระบาดไปทุกหัวระแหงของโลก โดยเฉพาะบริเวณที่พบเห็นผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นปกติ