เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - บราซิลออกมาเตือนหญิงมีครรภ์ในวันจันทร์ (1 ก.พ.) งดเดินทางไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่จะมีขึ้นในนครริโอ เดอ จาเนโร เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ภายหลังองค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศในวันเดียวกัน ว่า การระบาดของไวรัสซิกาเวลานี้ ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากมีแนวโน้มว่า ไวรัสชนิดนี้ที่มียุงลายบ้านเป็นพาหะเกี่ยวข้องกับการระบาดของภาวะที่ทารกเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly)
ประกาศของฮู เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ทางการบราซิลออกคำเตือนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ให้สตรีมีครรภ์งดเดินทางไปชมกีฬาโอลิมปิกที่นครริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 5 สิงหาคม
อย่างไรก็ตาม ฌาคส์ วากเนอร์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ ของบราซิล พยายามลดกระแสความกังวล โดยยืนยันว่า ผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องวิตกแต่อย่างใด
ทางด้าน โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ขานรับว่า เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกและคณะกรรมการโอลิมปิกของทั่วโลก และขณะนี้ยังไม่มีการประกาศห้ามเดินทางไปยังประเทศใด ๆ ออกมา
บาค เสริมว่า การแข่งขันโอลิมปิกคราวนี้จะจัดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของบราซิล ซึ่งไม่ใช่ฤดูแพร่พันธุ์ของยุง และปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลมั่นใจว่า สภาพต่าง ๆ ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกจะเอื้ออำนวยทั้งสำหรับนักกีฬาและผู้ชม
ทั้งนี้ ไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกในยูกันดาในปี 1947 แต่ถือเป็นเชื้อโรคที่ไม่ร้ายแรงจนกระทั่งมีการระบาดในละตินอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว
บราซิลเป็นประเทศแรกที่ตระหนักถึงอันตรายของไวรัสชนิดนี้ ว่า น่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับอาการผิดปกติแต่กำเนิดของทารก หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสังเกตว่า มีทารกที่คลอดออกมาในบราซิลโดยมีศีรษะเล็กผิดปกติจำนวนมาก กระทั่งถือเป็นวิกฤตสาธารณสุขเลวร้ายที่สุดของประเทศ หลังพบทารกที่สงสัยว่าอาจมีภาวะผิดปกติดังกล่าวถึง 4,000 คน ซึ่ง 270 คนได้รับการยืนยันแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 147 คนในปี 2014
ทางด้านฮูนั้นได้ระบุในคำแถลงว่า ดินแดนเฟรนช์โปลินีเซีย ก็ได้พบทารกที่มีศีรษะเล็กผิดปกติเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกันระหว่างที่ไวรัสซิการะบาดเมื่อสองปีก่อน
การระบาดของไวรัสซิกาเวลานี้กำลังสร้างความแตกตื่นไปทั่วทวีปอเมริกา ซึ่งฮูระบุว่า “ลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรง” และคาดว่า จะมีผู้ติดเชื้อถึง 4 ล้านคนในปีนี้
บรรดาชาติและดินแดนในละตินอเมริกา อย่าง โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ จาเมกา และเปอร์โตริโก ต่างเตือนผู้หญิงหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ ขณะที่ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ก็แนะนำสตรีมีครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่ไวรัสซิการะบาด
ฮูถูกกดดันอย่างหนักให้เร่งรับมือซิกา หลังจากก่อนหน้านี้เคยแถลงยอมรับว่า ตอบสนองล่าช้าเกินไปเมื่อตอนที่เกิดการระบาดของโรคอีโบลา ซึ่งในที่สุดทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 11,000 คนในแอฟริกาตะวันตก นับจากปลายปี 2013
อีโบลาเพิ่งได้รับการประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลกเมื่อเวลาล่วงเลยจนถึงเดือนสิงหาคม 2014 และยังคงสถานะนี้จนถึงปัจจุบัน
มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการของฮู กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกในวันจันทร์ (1) ว่า บรรดาสมาชิกคณะกรรมการฉุกเฉิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเห็นพ้องกันว่า เป็นเรื่องน่าสงสัยอย่างมากว่าการติดเชื้อไวรัสซิการะหว่างการตั้งครรภ์นั้น มีความเชื่อมโยงกับภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติ แม้ในขณะนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว
ชานเสริมว่า ภาวะทารกมีศีรษะเล็กผิดปกติและอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่พบจำนวนมาก ถือเป็นเหตุการณ์พิเศษและภัยคุกคามด้านสาธารณสุขต่อส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย
ทั้งนี้ ที่โคลอมเบียซึ่งพบผู้ติดเชื้อซิกากว่า 20,000 คน รวมถึงสตรีมีครรภ์ 2,100 คน อเลจันโดร กาวิเรีย รัฐมนตรีสาธารณสุข ได้แถลงเตือนว่า ขณะนี้กำลังมีการระบาดของโรคกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร โดยอัตราที่พบปัจจุบันอยู่ที่ 2.3 รายต่อผู้ติดเชื้อซิกา 1,000 คน ซึ่งถือว่า สูงมาก
กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เป็นความผิดปกติที่ไม่พบบ่อยนัก โดยที่ระบบภูมิคุ้มกันจะโจมตีระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยอ่อนแรงและบางครั้งกลายเป็นอัมพาต ผู้ป่วยส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้ แต่ก็มีบางรายที่เสียชีวิต
กาวิเรีย คาดว่า จะพบผู้ติดเชื้อซิการะหว่างการระบาดครั้งนี้ราว 657,000 คน ซึ่งหมายความว่า อาจพบผู้ป่วยโรคกิลแลง-บาร์เร กว่า 1,500 คน
ส่วนที่ ปานามา แถลงว่า พบผู้ติดไวรัสซิกา 50 คน ด้านฮอนดูรัสประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ หลังพบผู้ติดไวรัสชนิดนี้ 3,469 ราย นับจากซิกาเริ่มระบาดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม โดยจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น 3 เท่าตัวในช่วง 3 วันล่าสุด
ความกังวลเกี่ยวกับไวรัสซิกายังกำลังลุกลามเข้าสู่ยุโรปและอเมริกาเหนือ หลังพบผู้ติดเชื้อนับสิบรายในหมู่นักเดินทางที่กลับจากประเทศที่ไวรัสนี้ระบาด
ฮู ย้ำความจำเป็นในการปรับปรุงการวินิจฉัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับซิกา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียารักษา และอาการโดยทั่วไป คือ มีไข้ และผื่นคัน
พาหะของไวรัสชนิดนี้ คือ ยุงลายบ้าน ซึ่งเป็นพาหะของไข้เลือดออกด้วย และพบทุกที่ในทวีปอเมริกา ยกเว้นแคนาดา และ ชิลี