เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online – ทางการโคลอมเบียประกาศในวันเสาร์ (30 ม.ค.) ยืนยันการพบสตรีตั้งครรภ์มากกว่า 2,000 ราย ในประเทศของตนติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ที่ต้องสงสัยว่า เป็นต้นเหตุในการทำลายสมองของทารกแรกเกิด
รายงานข่าวล่าสุดซึ่งอ้างการเปิดเผยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของโคลอมเบียระบุว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศของตนแล้ว 20,297 ราย ซึ่งรวมถึงสตรีที่กำลังตั้งครรภ์จำนวน 2,116 ราย ส่งผลให้โคลอมเบียกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกามากเป็นอันดับที่สองของภูมิภาคละตินอเมริกา ต่อจากบราซิลที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้แล้วกว่า 1.5 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโคลอมเบียภายใต้การนำของประธานาธิบดี ฮวน มานูเอล ซานโตส ออกมาคาดการณ์ว่า ประชาชนในประเทศของตนอีกมากกว่า 600,000 คน อาจตกเป็นเหยื่อของไวรัสซิกาในปี 2016 นี้
ด้าน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ออกคำเตือนในสัปดาห์นี้ ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสซิกาในเวลานี้เข้าขั้นการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาที่คาดว่าอาจมีผู้ติดเชื้อนี้ทั่วทั้งทวีปราว 3 - 4 ล้านคนในปีนี้
แต่ไหนแต่ไรมา เชื้อไวรัสซึ่งมีพาหะเป็นยุงสายพันธุ์ “Aedes aegypti” ชนิดนี้ ถูกพบว่า มีการติดต่อสู่มนุษย์ในวงแคบ ๆ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ตามประเทศเขตร้อน ทั้งในทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย ก่อนที่จะมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ที่ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างเฟรนช์ โปลิเนเซีย (French Polynesia) เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014
อย่างไรก็ดี การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสซิการะลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคละตินอเมริกาได้สร้างความตื่นตะลึงแก่แวดวงสาธารณสุขทั่วโลกมากที่สุด จากการลุกลามที่ทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ออกมายอมรับในเดือนนี้ (มกราคม 2016) ว่า การลุกลามของไวรัสซิกานี้ถึงขั้น “แพร่ระบาด” แล้ว
ข้อมูลเมื่อนับถึงวันที่ 28 ม.ค. ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วอย่างน้อย 3,174 ราย ใน 21 ประเทศทั่วภูมิภาคละตินอเมริกา และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็น เด็กทารกได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 38 ราย
เป็นที่น่าสังเกตว่า การแพร่ระบาดของไวรัสซิกาที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาในเวลานี้ เพิ่งเข้าสู่ “ช่วงพีค” ในเดือนมกราคมนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทางองค์การอนามัยโลกออกมายอมรับว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ในลาตินอเมริกาเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนเมษายนของปีที่แล้วทางภาคตะวันออกของบราซิล
จนถึงขณะนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและบรรดากูรูด้านโรคเขตร้อนของ WHO กำลังเร่งทำงานแข่งกับเวลาในการหาทางรับมือ และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ตลอดจนการประสานงานกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในละตินอเมริกาที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากไวรัสนี้ที่ทาง WHO ยอมรับแล้วว่า อาจ “ควบคุมการระบาดไม่อยู่” และเชื้อไวรัสมรณะนี้อาจแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ ของทวีปอเมริกา ทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ได้ภายในสิ้นปี 2016 นี้
ในบราซิลซึ่งถือเป็นประเทศต้นตอของการแพร่ระบาดของไวรัสซิการะลอกนี้ รัฐบาลแดนแซมบ้าเตรียมกระจายกำลังทหารมากกว่า 200,000 นาย ไปเคาะประตูบ้านเรือนประชาชนเพื่อแจกใบปลิวให้ความรู้แบบหลังต่อหลัง ในความพยายามต่อสู้กับไวรัสซิกา (ZIKA) ที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้ทารกมีภาวะพิการตั้งแต่แรกคลอด ขณะที่การแพร่ระบาดของมันกำลังก่อความกังวลด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ ในภูมิภาคละตินอเมริกา
โอโกลโบ สื่อดังของบราซิลรายงานโดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของมาร์เซโล คาสโตร รัฐมนตรีสาธารณสุขบราซิล ที่ระบุว่า ทหารจะกระจายกำลังไปยังบ้านเรือนแต่ละหลังทั่วประเทศ เพื่อแจกใบปลิวแนะนำถึงวิธีการหลบหลีกป้องกันตัวเอง และคนในครอบครัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ส่งสัญญาณถึงการยกระดับความพยายามครั้งใหญ่ในการต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ติดต่อจากคนสู่คนและส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัด จะสามารถหายป่วยได้ภายในระยะเวลาราว 1 สัปดาห์
นอกจากนี้แล้ว คาสโตร ยังบอกว่า รัฐบาลบราซิลที่กำลังถูกกดดันอย่างหนัก ให้เร่งจัดการกับวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งนี้ จะแจกสารทาป้องกันยุงแก่หญิงตั้งครรภ์จำนวนอย่างน้อย 400,000 ราย ที่มีชื่ออยู่ในระบบสวัสดิการสังคมด้วย เพื่อป้องกันมิให้ไวรัสนี้ก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดอย่างร้ายแรง แก่ทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์
องค์การอนามัยโลก พบว่า เชื้อไวรัสซิกานั้นนอกจากสามารถถ่ายทอดผ่านทางเลือดแล้ว ยังสามารถตรวจพบได้จากอสุจิของเพศชายอีกด้วย ขณะที่ในกรณีแม่และเด็กนั้นสามารถส่งผ่านไวรัสได้ ทั้งในระหว่างช่วงการตั้งครรภ์และในช่วงการให้นมบุตร
ด้าน หนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ รายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลของชาติต่าง ๆ ในแถบนี้ละตินอเมริกาโดยเฉพาะ บราซิล และ เอลซัลวาดอร์ ได้ประกาศร้องขอไม่ให้ประชาชนของตนเองตั้งครรภ์ในช่วงปีนี้ หรือเรื่อยไปจนถึงปี 2018 เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ลูก ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังไม่มีการยืนยันว่า อาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะนี้ในบราซิลสูงถึงกว่า 1 ล้านราย ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาล่าสุด ยังระบุว่า จนถึงขณะนี้วงการสาธารณสุขและวงการแพทย์ทั่วโลก ยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ซึ่งยิ่งทำให้การติดเชื้อไวรัสซิกา กลายเป็นเรื่องที่มีอันตรายอย่างยิ่งยวด
ด้านกระทรวงสาธารณสุขของไทย ชี้ว่า เชื้อไวรัสซิกามีระยะฟักตัว 4 - 7 วัน จากนั้นผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นแบบ Maculopapular หรือจะมีรอยโรคที่เป็นตุ่มนูนและรอยแดงผสมกันที่บริเวณลำตัว แขน และขา มีอาการวิงเวียน เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดตามข้อ และอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสซิกามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายระบบประสาทของทารกในระหว่างอยู่ในครรภ์ ทำให้เด็กทารกแรกคลอดป่วยเป็นโรคศีรษะเล็ก (Microcephaly) ซึ่งเป็นความพิการแต่กำเนิด ส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน ตัวเตี้ย ใบหน้าผิดรูป มีภาวะปัญญาอ่อน และอาจมีอาการชักร่วมด้วย
ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขของมลรัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐฯ ออกคำแถลงยืนยันเมื่อ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่า พบประชาชนรายหนึ่งในรัฐของตนติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งอาจถือเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกในสหรัฐฯ โดยผู้ติดเชื้อซึ่งไม่มีการเปิดเผยตัวตนรายนี้ ถูกระบุว่า เพิ่งเดินทางไปยังประเทศที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาก่อนหน้านี้ไม่นาน
ขณะที่ทางการเดนมาร์ก โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ ยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากภูมิภาคละตินอเมริกาไม่นาน และเท่ากับเป็นการยืนยันว่า การแพร่ระบาดของไวรัสซิกานี้ได้ลุกลามเข้าสู่แผ่นดินยุโรปอย่างเป็นทางการแล้ว