รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - ประธานาธิบดี ดิลมา รูสเซฟฟ์ ผู้นำหญิงของบราซิลประกาศกร้าวในวันอังคาร (2 ก.พ.) พร้อมเดินหน้าทำสงครามเต็มรูปแบบกับ “ยุง” ที่เป็นพาหะของไวรัสมรณะซิกา (Zika virus) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วทวีปอเมริกา และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนทางรักษา ตลอดจนยังไม่มีวัคซีน
ประธานาธิบดี ดิลมา รูสเซฟฟ์ ผู้นำหญิงของบราซิลกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวระหว่างที่เธอเข้าร่วมการประชุมสมาชิกรัฐสภาแดนแซมบ้านัดแรกของปี 2016 โดยเธอยืนยันว่ารัฐบาลของเธอจะดำเนินทุกมาตรการที่จำเป็น รวมถึงจะไม่รีรอที่จะใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องเพื่อกำจัดยุงสายพันธุ์ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาอยู่ในเวลานี้
ผู้นำหญิงของบราซิลยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า รัฐบาลบราซิเลียเพิ่งบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลวอชิงตันในการร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาวัคซีนสำหรับรับมือกับเชื้อไวรัสซิกา และแสดงความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบราซิลกับสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี
ท่าทีล่าสุดของประธานาธิบดีหญิงรูสเซฟฟ์มีขึ้นหลังจากที่ทางการบราซิลออกมาเตือนหญิงมีครรภ์ในวันจันทร์ (1 ก.พ.) ให้งดเดินทางไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่จะมีขึ้นในนครรีโอเดจาเนโร ของบราซิลในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศในวันเดียวกันว่า การระบาดของไวรัสซิกาเวลานี้ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไวรัสที่มียุงลายบ้านเป็นพาหะชนิดนี้จะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการระบาดของภาวะที่ทารกเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly) และความพิการทางสมองในรูปแบบอื่นๆ
ประกาศของ WHO ล่าสุดกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ทางการบราซิลออกคำเตือนในเวลาต่อมาให้สตรีมีครรภ์งดเดินทางไปชมกีฬาโอลิมปิกที่นครรีโอเดจาเนโร ซึ่งจะเปิดฉากการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม
ขณะที่โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ขานรับว่า เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกำลังประสานการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการขององค์การอนามัยโลก และคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ก็เพื่อหาทางรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาถึงแม้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกคราวนี้จะจัดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของบราซิล ซึ่ง “ไม่ใช่ฤดูแพร่พันธุ์ของยุง” ก็ตาม
ทั้งนี้ ไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศยูกันดาทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1947 แต่ถือเป็นเชื้อโรคที่ไม่ร้ายแรงจนกระทั่งมีการระบาดในภูมิภาคละตินอเมริกาเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา โดยพาหะของไวรัสชนิดนี้คือ ยุงลายบ้าน ซึ่งเป็นพาหะของไข้เลือดออกด้วย และถือเป็นสายพันธุ์ยุงที่พบได้ทั่วไปในทุกประเทศทั่วทั้งทวีปอเมริกา ยกเว้นเพียงชิลี และแคนาดา
บราซิลถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ตระหนักถึงอันตรายของไวรัสมรณะชนิดนี้ โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขของบราซิลระบุว่า ไวรัสนี้น่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับอาการผิดปกติแต่กำเนิดของทารก หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสังเกตว่ามีทารกที่คลอดออกมาในบราซิลโดยมีศีรษะเล็กผิดปกติจำนวนมาก กระทั่งถือเป็นวิกฤตสาธารณสุขเลวร้ายที่สุดของประเทศ หลังพบทารกที่สงสัยว่าอาจมีภาวะผิดปกติดังกล่าวถึง 4,000 คน ซึ่ง 270 คนได้รับการยืนยันแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 147 คนในปี 2014