อาร์เอส มีสิทธิ์โดนปรับเงินหนักเบ็ดเสร็จรวมแล้วกว่า 17.3 ล้านบาท และโดนเพิกถอนใบอนุญาต หากยังดำเนินแผนขายกล่องบอลโลกตามเดิม และไม่ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล ผ่านฟรีทีวีครบทั้ง 64 แมตช์ ตามข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
ความคืบหน้ากรณีที่ บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางเพื่อฟ้อง กสทช.ให้ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือกฎมัสต์ แฮฟ (Must Have) ที่ครอบคลุมให้ 7 รายการกีฬาต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเท่านั้น โดยมีฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้ง 64 นัด เป็น 1 ในรายการที่อยู่ในข่าย
ล่าสุดเมื่อบ่ายวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงเรื่องนี้ต่อหน้าสื่อมวลชน ณ สำนักงานใหญ่ กสทช.(ซ.สายลม)
โดย ดร.นที กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ศาลปกครองกลางได้ยกคำร้องตามที่บริษัท อาร์เอสฯ ขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น กฎมัสต์ แฮฟ จึงยังมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะพิพากษาเป็นอย่างอื่น
พร้อมกันนี้ ดร.นที ยังกล่าวต่อว่าหาก “อาร์เอส” หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่ยังดำเนินการขายกล่องโดยโฆษณาว่าสามารถรับชมฟุตบอลโลกได้มากกว่าทางฟรีทีวี ตลอดจนไม่ถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านทางฟรีทีวีครบทั้ง 64 แมตช์ จะเป็นการละเมิดสิทธิ์ต่อผู้บริโภคตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ตามมาตรา 31 และผิดตามกฎมัสต์ แฮฟ โดยจะมีโทษปรับขั้นแรกจำนวน 5 ล้านบาท และอีกวันละ 1 แสนบาท จนกว่าจะไม่ละเมิดคำสั่ง ตลอดจนเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ด้วยเช่นกัน
“เมื่อศาลยกคำร้องขอทุเลาของอาร์เอสไปแล้ว แสดงว่ากฎมัสต์ แฮฟ ยังมีผลบังคับใช้อยู่ จนกว่าศาลจะตัดสินคดีหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น วันนี้เราจึงต้องแจ้งเตือนว่าทางอาร์เอสไม่สามารถที่จะขายกล่องโดยโฆษณาว่าสามารถดูฟุตบอลโลกได้มากกว่าฟรีทีวี หากละเมิดก็จะมีบทลงโทษตามข้อบังคับของ กสทช.โดยจากนี้เราจะแจ้งเตือนไปที่ผู้ประกอบการทุกแห่ง รวมถึงแจ้งให้อาร์เอสปฏิบัติตาม และระมัดระวังการให้ข้อมูล รวมถึงอาจมีการเรียกเข้ามาพูดคุยกัน”
“สำหรับทางอาร์เอสเองก็จะมีผลต่อการเพิกถอนใบอุนญาตของช่อง 8 ด้วยเช่นกัน แต่จะไม่รวมถึงช่องใหม่ในทีวีดิจิตอล โดยค่าปรับจะเริ่มตั้งแต่ที่มีการวางขายกล่องที่มีการโฆษณาว่าสามารถดูฟุตบอลโลกได้มากกว่าฟรีทีวีเป็นต้นไป และแม้ว่าสุดท้ายแล้วศาลจะมีคำตัดสินมาอย่างไรภายหลังก็จะไม่มีผลต่อข้อบังคับของ กสทช.ที่ดำเนินการไปแล้ว” ดร.นที กล่าว
ทั้งนี้ถ้าเป็นไปตามที่ กสทช.แถลงออกมา และหากอาร์เอสยังดำเนินการตามแผนเดิมคือถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีเพียง 22 นัด อาจมีสิทธิ์โดนปรับเงินกว่า 8.2 ล้านบาท (ถ่ายทอดสดตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน - 13 กรกฎาคม 2557) และหากนับตั้งแต่วันเปิดขายกล่องบอลโลกในวันที่ 1 เมษายนนี้ ตามกำหนดที่วางไว้ จะเป็นเงินทั้งสิ้นอีก 9.1 ล้านบาท หรือรวมแล้ว 17.3 ล้านบาทเลยทีเดียว