xs
xsm
sm
md
lg

RS ยันตามแผนขายกล่องบอลโลก รอศาลตัดสิน-โวสปอนเซอร์อื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อาร์เอส” เขี่ยบอลลุยการตลาดบอลโลกตามเดิม แต่ยอมแตะเบรกจ่อเลื่อนขายกล่องบอลโลกออกไปก่อนตามคำเตือนของ กสท. ขอรอฟังศาลปกครองตัดสินเรื่องกฎมัสต์แฮฟเท่านั้น พร้อมปรับแผนปฏิบัติตาม ย้ำชัดไม่หนักใจหากต้องยกเลิกขายกล่อง สูญรายได้200 ล้านบาท มั่นใจไม่กระทบรายได้บอลโลก 650 ล้านบาทตามแผนที่วางไว้

จากกรณีเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ออกมาแถลงว่า ในเดือน พ.ย. 56 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้ยกคำร้องตามที่อาร์เอสขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น กฎมัสต์แฮฟ (Must Have) จึงยังมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะพิพากษาเป็นอย่างอื่น จึงขอแจ้งทางอาร์เอสว่าไม่สามารถที่จะขายกล่องโดยโฆษณาว่าสามารถดูฟุตบอลโลกได้มากกว่าฟรีทีวี หากละเมิดจะมีบทลงโทษตามข้อบังคับของ กสทช.

ล่าสุด นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว เปิดเผยว่า จากแถลงมติของทาง กสทช.วานนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว และทางอาร์เอสเข้าใจ แต่วันนี้แผนการตลาดของอาร์เอสยังวางตามแผนเดิม คือกำหนดการออกอากาศทางฟรีทีวีที่ 22 คู่ ที่เหลือรับชมอย่างมีเงื่อนไข การเปิดตัวสปอนเซอร์หลัก 4 ราย รวมถึงแผนการขายกล่องบอลโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาที่จะเริ่มจำหน่ายกล่องบอลโลกในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็นเพียงแผนการตลาดของบอลโลกเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจริงขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลปกครอง ถึงเวลานั้นต้องดูสถานการณ์อีกที

“สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดขึ้นอยู่กับเรื่องของกฎมัสต์แฮฟ ที่ทางอาร์เอสคิดว่าไม่เป็นธรรมและไม่ยุติธรรมกับบริษัท เพราะอาร์เอสได้ลิขสิทธิ์นี้มาก่อนที่จะมาออกกฎดังกล่าว และเมื่อเป็นข้อพิพาทขึ้นมาจึงยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง คิดว่าสุดท้ายแล้วศาลมีคำตัดสินออกมาอย่างไรอาร์เอสพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล หากคำสั่งศาลให้ถ่ายทอด 64 แมตช์ทางฟรีทีวี ถึงเวลานั้นค่อยมาคิดกันใหม่ แต่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนของศาล เราไม่ควรไปคาดเดาหรือคาดการณ์คำตัดสินหรือคาดหมายถึงระยะเวลาได้ วันนี้เชิงการทำธุรกิจรอไม่ได้ ต้องวางแผนดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้ ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนการตลาดที่วางไว้ตั้งแต่ต้น และวันนี้ทั้งอาร์เอสและ กสทช.ต่างต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองด้วยกัน หากศาลมีคำตัดสินออกมาเช่นไรทางอาร์เอสพร้อมปฏิบัติตาม”

ด้านนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด กล่าวเสริมว่า อาร์เอสยังคงเดินหน้าทำการตลาดบอลโลกตามแผนเดิมที่มีอยู่เพียงแผนเดียวเท่านั้น และจะไม่ปรับแผนจนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาลออกมา โดยหวังว่าคำตัดสินของศาลจะไม่มีผลย้อนหลัง ส่วนแผนในอนาคตพร้อมที่จะปฏิบัติตาม และจากคำเตือนจากทาง กสทช.สปอนเซอร์ไม่ได้หวั่นวิตก และยังให้การตอบรับอย่างดี

ส่วนกรณีที่ทาง กสทช. ห้ามขายกล่องบอลโลกโดยโฆษณาว่าสามารถดูฟุตบอลโลกได้มากกว่าฟรีทีวีนั้น ทางบริษัทมองว่าอาจจะเลื่อนทำการขายกล่องบอลโลกออกไปก่อน จากเดิมที่จะวางขายวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพราะจากแผนการตลาดที่วางไว้เชื่อว่าผู้บริโภคจะซื้อกล่องใกล้ๆ ช่วงการแข่งขันอยู่แล้ว คือช่วงปลาย พ.ค.-มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทพร้อมจะวางขายกล่องบอลโลกไปจนกว่าคำตัดสินของศาลปกครองออกมา หลังจากนั้นพร้อมจะปรับแผนปฏิบัติตามคำตัดสินของศาล

“ทั้งนี้ หาก กสทช.ต้องการให้เข้าไปชี้แจง ทางบริษัทพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยทุกอย่างยังเดินไปตามแผนการตลาดที่วางไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเวลาเท่านั้น และหากศาลมีคำตัดสินออกมาเช่นไรอาร์เอสพร้อมปรับแผนปฏิบัติตาม และแม้จะต้องยกเลิกขายกล่องบอลโลกไปก็ไม่กระทบกับรายได้ 650 ล้านบาทจากบอลโลกที่วางไว้”

นางพรพรรณ กล่าวต่อว่า หากไม่สามารถขายกล่องบอลโลกได้จริง ก็พร้อมที่จะยกเลิกการขายกล่องบอลโลกออกไป จากเดิมที่ตั้งเป้ายอดขายไว้ 1 ล้านกล่อง โดยรายได้จากการขายคอนเทนต์บอลโลกจากกล่องนี้อยู่ที่ 100-200 ล้านบาทเท่านั้นที่จะหายไป โดยบริษัทไม่ได้หนักใจหรือต้องอยู่ในภาวะขาดทุน เนื่องจากเป็นการสั่งกล่องเข้ามาจำหน่ายตามออเดอร์ในแต่ละช่วงเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แม้ว่าราคาต้นทุนผลิตกล่องจะอยู่ในหลัก 1,000 กว่าบาทก็ตาม

ดังนั้น แม้จะไม่มีรายรับจากยอดการขายกล่องบอลโลก แต่รายได้จากการบริหารสิทธิ์บอลโลกยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้คือ 650 ล้านบาท มาจากรายได้จากสปอนเซอร์โฆษณา 80% และขายซับไลเซนส์อีก 20% ให้กับกล่อง PSI O2 จำนวน 5 แสนกล่อง ขณะที่รายได้จากกล่องบอลโลกถือเป็นรายได้เพิ่มเติมนอกแผนที่วางไว้

ล่าสุดในส่วนของสปอนเซอร์โฆษณานั้น ขณะนี้ได้ 4 บริษัทเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ตามเป้าที่วางไว้แล้ว คือ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย, เครื่องดื่มตราช้าง, AIS 3G 2100 และกลุ่ม ปตท. คิดเป็น 40% ของรายได้สปอนเซอร์ทั้งหมด โดยอีกกว่า 60% จะมาจากการขายสปอนเซอร์ให้แก่รายเล็กๆ ในราคา 5-15 ล้านบาทต่อไป โดยมีติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น