xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมบอลมาตรฐาน “ยี” / ชมณัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “TIMEOUT” โดย “ชมณัฐ”

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในวงการลูกหนังบ้านเรา คราแรกว่าจะขอยกพื้นที่แสดงความยินดีกับ “โค้ชง้วน” สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ ที่ได้ก้าวขึ้นคุมบังเหียนทีมชาติไทยชุดใหญ่ แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่ากุนซือวัย 44 ปีรายนี้เชื่อมือได้ ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัยตั้งแต่สมัยเป็นนักเตะอยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่รอดูผลงานในสนามเท่านั้น จึงส่งให้หน้ากระดาษส่วนนี้ตกเป็นของกรณี “ทรูวิชั่นส์” ที่ได้รับสิทธิ์ยิงสดศึกไทยพรีเมียร์ลีกครั้งใหม่ 3 ฤดูกาลต่อจากนี้ (2014-2015-2016) ที่หลายคนกังขาและตั้งคำถามว่า “ประมูลกันตอนไหน?”

ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวหลายสำนักพยายามสอบถามไปยังสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ถึงการเปิดประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกครั้งใหม่ แต่ก็ได้คำตอบเพียงว่าคงต้องรอให้เสร็จสิ้นเรื่องการเลือกตั้งนายกสมาคมฯวาระใหม่เสียก่อน แต่แล้วจู่ๆ ก็มีกระแสข่าวโครมโตว่าเจ้าของเดิมอย่างทรูวิชั่นส์ได้สิทธิ์ต่อไปอีก 3 ฤดูกาล ทำให้สิ่งที่ตามมาคือคำถามถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของสมาคมฟุตบอลฯ

แม้เรื่องนี้จะมีการจัดแถลงข่าวใหญ่โต แต่ก็ยังไม่ช่วยให้หายเคลือบแคลง หนำซ้ำยังนำมาซึ่งข้อสังเกตมากมายอีกต่างหาก ชื่อของ เซอร์ เดวิด ริชาร์ด ประธานพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถูกหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นผู้เข้ามาดูแลการประมูลครั้งนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงคำยืนยันว่าทุกอย่างโปร่งใสไม่มีหมกเม็ด แต่คำตอบในเรื่องช่วงเวลาการเปิดประมูลของ วรีวร์ มะกูดี รักษาการนายกฯ ที่กล่าวว่า “เราอาจจะไม่ได้มีการแจ้งตามสื่อมากนัก แต่ทั้งนี้เราได้แจ้งแก่ผู้ที่สนใจที่รู้กันอยู่แล้ว เพราะได้มีการติดต่อสอบถามเข้ามาโดยตลอดว่าจะประมูลเมื่อใด”

เข้าใจครับว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีศักยภาพพอ แต่ขนาด “ซีทีเอช” ยังกล้าฉีกหน้าทรูฯคว้าสิทธิ์ยิงสดศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มาครองอย่างไม่มีใครคาดคิดได้เลย แล้วนับประสาอะไรกับสิ่งที่สามารถยื่นมือจับต้องได้ ความหอมหวนของเม็ดเงินช่วงไทยลีกกำลังบูม อาจดึงดูดเจ้าสัวหลายรายในประเทศให้ทุ่มทุนเข้ายื้อแย่งก็เป็นได้ แต่กลับเป็นว่าหลายคนไม่เคยได้รับรู้ข่าวสารจากที่ไหนเลยจนกระทั่งการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว

และแม้ว่าจะโยนไปที่ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท ในฐานะผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมฯ เป็นผู้ตัดสินใจโดยอ้างว่าเมื่อพิจารณาดูแล้วเรื่องนายกใหม่ฯคงยังไม่ได้ข้อสรุปง่ายๆ จึงต้องเร่งเปิดประมูลก่อน เพราะหากล่าช้าอาจส่งผลเสียหายต่อวงการฟุตบอล แต่ถึงอย่างไรก็ตามทางสมาคมฯก็ต้องรับรู้และเป็นผู้อนุมัติ พร้อมกันนี้หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียด “บังยี” ได้กล่าวย้ำว่าการแถลงข่าวที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเซ็นสัญญา เป็นเพียงการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่าง สยามสปอร์ต กับ ทรูวิชั่นส์ เท่านั้น และตัว “บังยี” ก็ไม่ได้ร่วมลงชื่อแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าทางสมาคมฟุตบอลฯหรือทีพีแอลยังไม่ได้รับรอง ซึ่งเท่ากับว่าหากมีการพลิกโผเปลี่ยนขั้วอำนาจการลงนามครั้งนี้อาจถูกยกเลิกก็เป็นได้หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน

ขณะที่จำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท ที่ทางทรูวิชั่นส์มอบให้ตลอด 3 ปี (ตกปีละ 600 ล้านบาท) “บังยี” บอกว่าจะแบ่งให้สโมสรสมาชิกใน ไทยพรีเมียร์ลีก 18 ทีม ทีมละ 20 ล้านบาท, ลีกวัน (ดิวิชัน 1) 18 ทีม ทีมละ 3 ล้านบาท และลีกภูมิภาค (ดิวิชัน 2) 84 ทีม ได้ทีมละ 1 ล้านบาท เบ็ดเสร็จประมาณ 498 ล้านบาทต่อปี แต่เงินก้อนโตที่เหลืออีกกว่า 102 ล้านบาทต่อปี รวม 3 ปี 306 ล้านบาท ก็ไม่ได้แจ้งว่าตกไปอยู่ในมือผู้ใด

สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำถึงความโปร่งใสและการบริหารจัดการต่างๆ ของสมาคมฟุตบอลฯได้เป็นอย่างดี และเมื่อรวมกับสิ่งที่ยังขัดต่อประเทศชั้นนำทั่วโลก อาทิเช่น โปรแกรมอุ่นเครื่องตามฟีฟาเดย์, ลีกสำรอง-ลีกเยาวชน, ผู้ถือหุ้นทีพีแอล, สถิติต่างๆ ของทีมชาติ, สัญญาว่าจ้างโค้ชทีมชาติ, ตั๋วเครื่องบิน-พาสปอร์ตนักฟุตบอล, สนามซ้อม-สนามแข่ง หรือแม้กระทั่งการส่งคนมาขัดขวางผู้ที่จะเดินทางเข้าร่วมประชุม โดยอ้างว่าถนนทางเดินเส้นดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ฯลฯ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าทุกวันนี้บอลไทยกำลังจะก้าวไปตามมาตรฐานสากล หรือ มาตรฐาน วรวีร์ กันแน่ และในเมื่อตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การจัดการต่างๆยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแฟนบอลหลายคนถึงอยากลอง “ตกนรกขุมใหม่” ดูบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น