ASTV ผู้จัดการรายวัน – การต่อสู่แย่งชิงเก้าอี้นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ระหว่าง “บังยี” วรวีร์ มะกูดี อดีตนายใหญ่ 3 สมัย กับฝ่ายค้านที่ต้องการโค่นอำนาจนำโดย 2 หัวเรือใหญ่ เนวิน ชิดชอบ กับ อรรณพ สิงห์โตทอง ใกล้จะได้บทสรุปเต็มที หลังทุกฝ่ายยืนยันจุดยืนและเส้นตายของตนเองมาแล้วชัดเจน และเมื่อทั้งคู่ไม่มีท่าทีจะถอยทัพ ฉากจบที่ออกมาจึงมีสิทธิ์สูงที่จะถึงขั้นแตกหักแยกเป็น 2 สมาคมเลยทีเดียว
วรวีร์ มะกูดี กำหนดวันเลือกตั้งออกมาเป็นที่เรียบร้อยตามกรอบเวลาฟีฟากำหนดคือ 23 กันยายน 2556โดยก่อนหน้านั้นวันที่ 9 สิงหาคม จะเปิดประชุมใหญ่พิเศษ เพื่อขอมติจากสโมสรสมาชิกเพื่อรับรองธรรมนูญใหม่ที่ใช้ 72 เสียงในการลงคะแนนหย่อนบัตร ขณะที่ฝ่ายค้านนำโดยหัวเรือใหญ่ อรรณพ สิงห์โตทอง ไม่รอให้ถึงวันดังกล่าวชิงตัดหน้ารวมเสียง 108 เสียง กิน 1 ใน 3 ของสโมสรสมาชิกทั้งหมดยื่นหนังสือต่อสมาคมฟุตบอลฯ ขีดเส้นตายให้จัดการเลือกตั้งภายในวันที่ 23 กรกฎาคม และหากไม่ทำตามก็จะยื่นเรื่องจัดประชุมเลือกตั้งขึ้นเองตามอำนาจประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 94
ในเรื่องนี้ทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้เริ่มขยับตัวโดยการส่งหนังสือเตือนให้สมาคมฟุตบอลฯเร่งจัดการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยด่วน เพียงแต่ยังกั๊กตรงที่ไม่ระบุวันที่ชัดเจนลงไป เนื่องจากหากทำอะไรโดยพลการตนเองจะโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะหากปล่อยให้ล่วงเลยพ้นกำหนดแต่ยังเป็นแค่เสือกระดาษ มีสิทธิ์โดนสโมสรสมาชิกฟ้องร้องต่อกรมการปกครอง ให้เข้ามาพิจารณาฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ แต่หากทะเล่อทะล่าเข้าไปยุ่งแบบไม่มีเชิงจะถูกฟีฟามองเป็นปาร์ตีที่ 3 เข้ามาแทรกแซง และอาจส่งผลให้ประเทศไทยโดนแบนเฉกเช่นเดียวกับที่แคเมอรูนโดนเป็นรายล่าสุด เวลานี้ กกท.จึงต้องพยายามเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกหนังโลกว่าตนเองไม่ใช่หน่วยงานที่จะไปบังคับขู่เข็นโดยปราศจากกฎใดๆ เพื่อที่จะดำเนินการได้โดยสะดวก
ซึ่งกรณีที่ กกท.ออกโรงเข้ามาจัดการเลือกตั้งแทนนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมาคมมวยสากลสมัครเล่น ยุคของ พล.อ.นรินทร์ แทบประสิทธิ์ ที่ไม่จัดเลือกตั้งตามเวลาที่กำหนด จนสุดท้ายโดน กกท.ลงดาบถอดคำว่า “แห่งประเทศไทย” หรือสิทธิ์การเป็นสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ออก พร้อมเปิดให้จัดตั้งสมาคมใหม่โดยมี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นหัวเรือเข้ามาทำหน้าที่แทนและมอบคำว่าแห่งประเทศไทยให้ จนส่งผลให้สุดท้ายเกิดการแยกเป็น 2 สมาคมขึ้นมา
ทั้งนี้มีแนวโน้มสูงที่อนาคตของสมาคมลูกหนังไทยจะออกหน้านี้เช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ หรือ ไอบา เห็นพ้องกับ กกท.เฉดหัวสมาคมเก่า แล้วให้การรับรองกับสมาคมใหม่เข้าแข่งขันระดับประเทศได้ตามปกติ แต่ปัจจุบัน ฟีฟา มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสมาคมฟุตบอลฯที่มี วรวีร์ มะกูดี เป็นประมุข และ “บังยี” เองก็มั่นใจในบารมีการเป็นบอร์ดฟีฟาของตนว่าลูกหนังโลกจะยังให้การรับรอง จึงพร้อมที่จะวางหมากเปิดหน้าแลกให้ฝ่ายค้านจัดการเลือกตั้งขึ้นเอง โดยเรื่องนี้ องอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฟุตบอลฯได้แย้มว่า “ถ้าหากสโมสรจะจัดการเลือกตั้งเองก็ทำได้ แต่ทางฟีฟาจะไม่รับรองแน่นอนเพราะต้องการให้ใช้ธรรมนูญใหม่ ซึ่งฟีฟาจะยังคงให้สิทธิ์กับสมาคมฯเดิมที่ทำตามมาตราการอยู่”
เมื่อพิจารณารอบด้านแล้วหากยังไม่มีฝ่ายใดถอยทัพ ฉากจบมีสิทธิ์ถึงขั้นแตกหักแบ่งออกเป็น 2 สมาคมได้สูง คือ สมาคมฟุตบอลฯ (เดิม) ที่มี “บังยี” ยืนกรานว่าทำทุกอย่างตามสากล แม้จะได้รับการรับรองจากฟีฟาหรือไม่ก็ตาม แต่คงหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการรับรองจากในประเทศ กับ สมาคมฟุตบอลฯ (ใหม่) ที่ตั้งขึ้นโดยมี กกท. รับรอง ซึ่งก็ยังไม่รับประกันว่าฟีฟาจะเห็นชอบตาม เพราะใช้ธรรมนูญเก่าในการเลือกตั้ง อาจต้องใช้เวลาสักระยะในการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับฟีฟา
ขณะเดียวกัน เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ออกโรงดักคอค้านว่าไม่สามารถทำได้ “การจะแยกสมาคมฯนั้นไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะหาก วรวีร์ ไม่ทำตามข้อบังคับประเทศไทยและไม่ได้รับการรับรองจาก กกท.ก็จะไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการรับรองจากฟีฟาเช่นกัน”
พร้อมกันนี้หากมีการแยกสมาคมฯจริง ผลพวงที่ตามมาจะมีผลกระทบมากมายแน่นอน โดยแรกสุดคือการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศ สโมสรสมาชิกจะต้องเลือกว่าจะเข้าสังกัดใด หรือถึงขั้นแบ่งเป็น 2 ลีก เหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศอินโดนีเซียมาแล้ว ที่ลีก IPL ได้รับการรับรองจากสมาคมฯและฟีฟา แต่สโมสรใหญ่และผู้เล่นดีๆกลับไปรวมกันที่ลีก ISL ที่ไม่ได้รับการรับรองแทน
จากนี้ทำได้แค่จับตาดูสถานการณ์หลังวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ว่า กกท.จะเป็นผู้ฟันธงว่าจัดการเลือกตั้งตามข้อบังคับไทย หรือผ่อนปรนให้เป็นไปตามลูกหนังโลกอย่างที่ “บังยี” อ้าง และที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของ ฟีฟา ว่าจะชี้ชะตาลูกหนังไทยอย่างไร