ASTV ผู้จัดการรายวัน – งวดเข้ามาขณะสำหรับการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สมัยใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย.56 ซึ่ง ณ เวลานี้มีผู้ประกาศตัวลงชิงชัย 2 ราย คือ วิรัช ชาญพานิชย์ อดีตผู้จัดการทีมชาติไทย ซึ่งหวังลบล้างความชอกช้ำจากเกมล้มกระดานในการเลือกตั้งสมัยที่แล้ว โดย “บิ๊กก๊อง” มีแบ็กอัพอย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และชลบุรี เอฟซี สองสโมสรดังไทยพรีเมียร์ลีกหนุนหลัง ขณะที่อีกรายคือ พินิจ งามพริ้ง แกนนำกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ 1 ในหัวโจกที่เคยขับไล่ “วีเจ” วิจิตร เกตุแก้ว จนกระเด็นตกเก้าอี้มาแล้ว แต่ทั้งนี้เจ้าของตำแหน่งคนปัจจุบันอย่าง วรวีร์ มะกูดี ไม่ยอมหล่นจากตำแหน่งง่ายๆ ซึ่งดูเหมือน “บังยี” กำลังเดินเกมสุดฤทธิ์เพื่อยืนหยัดนั่งนายก ส.บอลไทยให้ได้เป็นสมัยที่ 4
สิ่งที่ วรวีร์ พยายามมาตลอดนับจากวันที่ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงธรรมนูญข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลฯ โดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามกฎของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) มิเช่นนั้นจะไม่สามารถร่วมสังฆกรรมในวงการลูกหนังโลกได้ มีหัวข้อสำคัญคือ การขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯจากเดิมวาระละ 2 ปี เพิ่มเป็น 4 ปี และการลดจำนวนสโมสรสมาชิกผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนจาก 184 เสียง เหลือเพียง 72 เสียง โดยคัดจาก สมาชิกในไทยพรีเมียร์ลีก 18 สโมสร, สมาชิกในดิวิชัน1 อีก 18 สโมสร, ทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศ การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข ค และ ง ตัวแทนละ 1 เสียง รวม 6 สโมสร, สมาชิกในระดับดิวิชัน 2 ทั้ง 6 ภูมิภาคๆ ละ 5 สโมสร รวมเป็น 30 สโมสร
ซึ่งหัวข้อแรกไม่เป็นปัญหาแม้จะขัดต่อ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528 เนื่องจากหลังพ้นการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้ใดเป็นฝ่ายชนะ หาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขกฎหมายคลอดออกมาแล้วเสร็จ ก็จะสามารถยืดระยะเวลาได้โดยอัตโนมัติ น้ำหนักจึงตกไปอยู่ในหัวข้อถัดมา กอปรกับการที่ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ออกโรงหนุนรุ่นพี่ร่วมสถาบันสวนกุหลาบวิทยาลัยอย่าง “บิ๊กก๊อง” เต็มตัว ออกมาโวว่ามีเสียงในมือแล้วกว่า 140 เสียง ซึ่งหากมีการลดจำนวนสโมสรสมาชิกลง คะแนนเสียงที่มีเหล่านั้นจะเปล่าประโยชน์ไปในทันที ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฟีฟายี” เล็งเห็นถึงจุดนี้ จึงพยายามที่จะลดจำนวนผู้มีสิทธิ์หย่อนบัตร พร้อมกับไม่ระบุทีมที่มีสิทธิ์ในระดับดิวิชัน 2 จำนวน 30 ทีม ว่าเป็นทีมใดบ้างและใช้เกณฑ์ใดเป็นตัวคัดเลือก
ด้าน อรรณพ สิงโตทอง รองประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี เผยว่าเรื่องดังกล่าวสามารถยอมรับได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎกติกาที่โปร่งใส ตามที่ พ.ร.บ.การกีฬาฯ กำหนดว่าการแก้ไขข้อบังคับของสมาคมต้องได้รับการรับรองจากสโมสรสมาชิกอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทั้งหมด แต่ทั้งนี้ธรรมนูญข้อบังคับฉบับดังกล่าวได้รับการรับรองเฉือนกันครึ่งต่อครึ่งเท่านั้น โดยมีผู้เห็นชอบ 55 เสียง และคัดค้าน 48 เสียง ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา หาก วรวีร์ ยังยืนกรานที่จะใช้คงต้องจัดประชุมใหญ่และเรียกสโมสรสมาชิกมาลงคะแนนอีกครั้ง พร้อมทำเรื่องยื่นไปให้ กกท. รับรอง ก่อนส่งกรมการปกครองอนุมัติ นั่นหมายความว่าต้องกินเวลานาน ไม่ทันการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นกลางเดือนมิถุนายนนี้
จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมหารือในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้ ณ ห้องประชุมสมาคมฟุตบอลฯ (สนามศุภชลาศัย) เวลา 14.00 น.โดยสมาคมฟุตบอลฯเตรียมเชิญตัวแทนของ ฟีฟา มาชี้แจงร่วมกับ กกท. ถึงเรื่องการใช้ธรรมนูญใหม่ในการเลือกตั้ง ซึ่ง “บังยี” มั่นใจว่าคนที่ตนพามาจะโน้มน้าวใจให้ กกท.เห็นพ้องว่าควรต้องเปลี่ยนแปลงตามที่บอกกล่าวไปแล้ว หรือให้รอจนกว่า พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขคลอดออกมาก่อนจึงจะจัดการเลือกตั้งได้ เพราะหากกฎลูกหนังโลกยังขัดกับกฎหมายไทยอยู่ อาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ทำให้กำหนดการเดิมวันที่ 15 มิถุนายน นั้นจะเป็นเพียงการเรียกสโมสรสมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้ง 72 เสียง มารับทราบแทน และนั่นจะทำให้เจ้าตัวซื้อเวลาต่อได้อีก แต่ถ้าทุกฝ่ายยังคัดค้านดูเหมือน วรวีร์ ยังมีไพ่เด็ดใบสุดท้ายในมือ นั่นคือการบินไปร่วมประชุมใหญ่กับฟีฟา ช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม ที่สาธารณรัฐมอริเชียส แถบทวีปแอฟริกา ตามที่อ้างว่าทางฟีฟาจะประกาศให้ทุกชาติสมาชิกใช้ข้อบังคับใหม่ให้ตรงกันในปีนี้
อย่างไรก็ดี พินิจ งามพริ้ง 1 ในผู้ท้าชิง ได้ออกมาดักคอล่วงหน้าว่าการเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถทำได้เพราะต้องฉีกกฎเกณฑ์หลายข้อ ซึ่งหากยังทำได้คงเป็นปัญหาสะสมของวงการฟุตบอลไทย ทั้งนี้จึงอยากให้ทุกฝ่ายจับตาตัวแทนที่จะเดินทางมาว่าเป็นฟีฟาตัวจริงหรือไม่ พร้อมกันนี้ พินิจ ได้ยื่นจดหมายสอบถามไปยังผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของฟีฟา เพื่อขอความกระจ่างในเรื่องต่างๆ แล้วเช่นกัน
สุดท้ายเรื่องทั้งหมดจะตกอยู่ที่ กกท.เป็นคนตรวจสอบถึงกฎระเบียบของฟีฟาว่าแท้จริงแล้วเป็นเช่นไร และมีมาตรการจัดการอย่างไรหากสิ่งที่ วรวีร์ รักษาการประมุขบอลไทยทำออกมานั้นขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ในขณะที่สโมสรสมาชิกทุกทีมมีอำนาจที่จะยื่นเรื่องไปให้ศาลปกครองตรวจสอบ ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นจากการทำสิ่งใดโดยพลการ นี่จึงถือเป็นการเดินหมากนอกกระดานของแต่ละฝ่ายที่ต้องดำเนินไปอย่างแยบยล โดยมีเก้าอี้นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นเดิมพัน