สโมสรสมาชิกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จำนวน 55 เสียง เห็นชอบให้มีการแก้ไขข้อบังคับวาระการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯ จากเดิม ครั้งละ 2 ปี เพิ่มเป็น4 ปี ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ด้าน "บังยี" วรวีร์ มะกูดี เผยเตรียมหารือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และประกาศใช้ในการเลือกตั้งประมุขครั้งใหม่
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก กรุงเทพฯ เวลา 11.00 น. สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ได้ทำการจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 โดยมี นายวรีวร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลฯ เป็นประธาน พร้อมด้วยสโมสรสมาชิกจำนวน 110 สโมสร จากทั้งหมด 183 สโมสร และ สภากรรมการฯ จำนวน 12 จาก 19 ท่าน เข้าร่วมประชุม
โดยวาระแรกคือการรับรองผลการประชุมฯเมื่อครั้งที่แล้ว (2554) ปรากฏว่า นายอัคคะไกร มหาศรี ตัวแทนสโมสรสมาชิกสมาคมกีฬาหาดใหญ่ ได้ลุกขึ้นประท้วงเนื่องจากในการประชุมครั้งก่อน ตนไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม แต่ในหนังสือรับรองกลับมีชื่อของ นายวิชัย จารุพันธ์ คนในสมาคมฯเป็นผู้ลงชื่อเข้าประชุมแทน ซึ่งสุดท้ายมีผู้รับรองในวาระนี้ทั้งสิ้น 63 เสียง และไม่รับรอง 44 เสียง
ในวาระที่สองเป็นเรื่องของงบดุลประจำปี นายพินิจ งามพริ้ง 1 ในผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกสมาคมฟุตบอลฯ เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนสโมสรสมาชิกจากศรีราชา ได้ลุกขึ้นประท้วงเช่นกัน โดยได้ทักท้วงว่าไม่มีเอกสารระบุการแสดงรายรับของทางสมาคมฯที่ได้จากการจัดแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ นายวรวีร์ อ้างว่าทางสมาคมฯได้มอบหมายให้ทาง บ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด เป็นผู้ดูแลและได้มีการชี้แจงเรียบร้อยแล้ว โดยกระจายเงินรายได้ให้แก่แต่ละสโมสร พร้อมกันนี้ได้มีการขอประท้วงจาก นายอัคคะไกร และ “ทนายอ๊อด” ภีมเดช อมรสุคนธ์ตัวแทนจากโมสรจังหวัดระยอง เป็นระลอกแต่ทาง "บังยี" และสภากรรมการฯได้บอกให้ผู้ประท้วงส่งเป็นหนังสือกลับมาพร้อมทั้งมีคำสั่งให้นั่งลง ก่อนที่มติที่ประชุมจะมีการรับรองในวาระนี้จำนวน 61 เสียง และไม่รับรอง 47 เสียง
สำหรับในวาระอื่นๆซึ่งเป็นวาระสุดท้าย นายวรวีร์ ได้เสนอร่างแก้ข้อบังคับลักษณะปกครองของสมาคมฯ เพื่อให้เป็นไปตามกฏของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟา โดยมีข้อที่แก้ไขที่สำคัญอาทิเช่น การเลือกนายกสมาคมฯ อุปนายกสมาคม และกรรมการกลางในสภากรรมการ จะต้องได้รับการเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ และมีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี (จากเดิม 2 ปี) รวมถึงในส่วนของผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนน จะมีตัวแทนทั้งสิ้น 72 คน จาก 18 สโมสรสมาชิกในไทยพรีเมียร์ลีก, 18 สโมสรสมาชิกในดิวิชัน1, ทีมชนะเลิศ และรองชนะเลิศ การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข ค และ ง ตัวแทนละ 1 เสียง, ผู้แทนสโมสรในดิวิชัน 2 จำนวน 6 ภูมิภาค โดยคัดเลือกภูมิภาค ละ 5 สโมสร และในส่วนของสภากรรมการและเลขธิการจะไม่มีสิทธิ์ในการลงคะแนน สุดท้ายมีสโมสรสมาชิกรับรองในวาระนี้ทั้งสิ้น 55 เสียง และไม่รับรอง 48 เสียง
ซึ่ง นายวรวีร์ ได้เปิดเผยถึงการแก้ข้อบังคับในครั้งนี้ว่า "ที่ประชุมรับหลักการให้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ ฟีฟา ซึ่งหากไม่ทำตามอาจจะไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกิจกรรมต่างๆได้ ซึ่งในเดือนพ.ค. ฟีฟา จะมีการประชุมใหญ่ที่ประเทศมอริเชียส (ทวีปแอฟริกา) และจะประกาศใช้ในปีนี้ ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมฯจะเข้าหารือกับทาง กกท. เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ. กีฬา ฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมาด้วย แต่ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะทาง กกท. ต้องการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละสมาคม และต้องการให้สมาคมเป็นไปตามกฏสากล ซึ่งทางสมาคมฟุตบอลฯจะมีการใช้ข้อบังคับใหม่นี้ตั้งแต่การเลือกตั้งนายกสมาคมฯครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในเดือนมิ.ย. ก่อนที่จะขึ้นจดทะเบียนกับทาง ฟีฟา ในเดือนก.ย. ส่วนข้อทักท้วงในเรื่องการเลือกตั้งนายกสมาคมฯที่จะมีขึ้นในเดือนมิ.ย. นั้นเรายืนยันว่าไม่ผิดกฏแต่อย่างใด เพราะมีกำหนดให้นับวาระ 2 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง"
สำหรับในเรื่องอนาคตของ วินฟรีด เชเฟอร์ กุนซือทีมชาติไทยนนั้น "ฟีฟายี" เผยว่าตอนนี้ได้ข้อสรุปจากสภากรรมการแล้ว แตจ่ยังต้องมีการพิจารณาสัญญาอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการแถลงหลังวันสงกรานต์
ขณะที่เรื่องราวชิงสิทธิ์การทำทีมระหว่าง อีสาน ยูไนเต็ด และ ศรีสะเกษ เอฟซี นั้น นาย วีระ คำมี ฝ่ายกฎหมายสมาคมฯ ได้กล่าวว่า "ตอนนี้เราต้องพักสิทธิ์การแข่งขันของทั้งคู่ไปก่อนจนกว่าคำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดจะออกมา ซึ่งแม้ศาลปกครองจ.อุบลราชธานีจะมีคำสั่งทุเลา แต่ไม่ได้หมายความว่าสิทธิ์จะกลับไปเป็นของ อีสาน แต่อย่างใด และทางสมาคมฯยืนยันว่าไม่สามารถออกและรับรองคลับ ไลเซนซิง ให้กับทาง อีสาน ได้ และที่สำคัญทางข้อกำหนดในการเซ็นรับทราบส่งทีมเข้าแข่งขันในลีกมีระบุว่าผู้ยินยอมต้องทำตามสมาคมฯและไม่สามารถทำการฟ้องร้องต่อศาลใดศาลหนึ่งได้"