ASTV ผู้จัดการรายวัน - กลายเป็นประเด็นร้อนที่คอกีฬาพูดถึงไม่เว้นวันสำหรับปัญหาการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้การต่อสู้ของ 2 ขั้วอำนาจ ฝ่ายหนึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิม “บังยี” วรวีร์ มะกูดี กับกลุ่มอำนาจใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มชลบุรี นำโดย อรรณพ สิงโตทอง กับ กลุ่มบุรีรัมย์ นำโดย เนวิน ชิดชอบ ที่ร่วมกับสนับสนุน วิรัช ชาญพานิชย์ อดีตผู้จัดการทีมชาติไทย ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกสมาคมฯ ได้ดำเนินมากว่าครึ่งทางแล้ว MGR SPORT จึงขอโอกาสย้อนรอย ไล่เรียงไปยังต้นตอของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นว่ามีที่มาอย่างไร
วรวีร์ เสนอแก้ข้อบังคับ (วันที่ 31 มีนาคม) - ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ของสมาคมฟุตบอลฯ วรวีร์ มะกูดี ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ เสนอที่ประชุมแก้ไขข้อบังคับของสมาคมฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ขึ้นใหม่ โดยอ้างว่าให้เป็นไปตามธรรมนูญมาตรฐานสากลของ ฟีฟา แต่สุดท้ายมีมติรับรองจากสโมสรสมาชิกเพียง 55 เสียง และไม่รับรอง 48 เสียง ซึ่งไม่ตรงตามกฎ 2 ใน 3 จึงยังไม่สามารถแก้ไขได้
“อรรณพ” ข้องใจ 72 เสียง (วันที่ 4 เมษายน) - อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี ตั้งข้อสงสัยในร่างธรรมนูญใหม่ หัวข้อการเปลี่ยนแปลงจำนวนเสียงสโมสรสมาชิกที่มีสิทธิ์เลือกตั้งนายกสมาคมฯ จากเดิม 184 เสียง เหลือเพียง 72 เสียง โดย “เดอะ เซนต์” กล่าวว่าเป็นการตัดสิทธิ์สโมสรที่เป็นสมาชิกอย่างถูกต้องมาช้านาน พร้อมเปิดให้สโมสรที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ามามีสิทธิ์เลือกตั้งได้ทันที อีกทั้งในส่วนของดิวิชัน 2 ยังไม่มีการกำหนดวีธีการคัดเลือกที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ วรวีร์ ยัดรวมเข้ากับธรรมนูญของฟีฟาเองโดยไม่ถามสโมสร
“บังยี” ดึงฟีฟาแจง (15 พฤษภาคม) - วรวีร์ เชิญ มร.เจมส์ จอห์นสัน ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสของฟีฟา เผยว่า ฟีฟาจะจัดประชุมใหญ่ที่สาธารณรัฐมอริเชียส วันที่ 31 พฤษภาคม เพื่อให้สมาชิกทั้ง 209 ประเทศรับรองในธรรมนูญใหม่ ส่วน “บังยี” ได้กำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งเป็น 1 วันก่อนที่ตนจะครบวาระ จัดประชุมเพื่อขอมติรับรองธรรมนูญใหม่จากสโมสรสมาชิก พร้อมขู่หากไม่ยอมรับจะไม่สามารถร่วมสังฆกรรมกับลูกหนังโลกได้
“พินิจ” โต้ฟีฟาไม่บังคับ 72 เสียง (11 มิถุนายน) - พินิจ งามพริ้ง 1 ในผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกสมาคมฟุตบอลฯ ยืนยันว่า ธรรมนูญใหม่ของฟีฟาที่ได้รับรองในการประชุมใหญ่ ไม่มีข้อใดที่กำหนดว่าแต่ละประเทศต้องใช้คะแนนเสียงเท่าไหร่ในการเลือกตั้ง ที่สำคัญฟีฟาจะประกาศใช้ธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม เป็นต้นไป จึงไม่มีเหตุผลเลยที่วรวีร์ ที่ใกล้จะหมดวาระในวันที่ 16 มิถุนายน จะต้องมาเปลี่ยนแปลงก่อนครบวาระ
เชิญ “ฟีฟา” รอบ 2 (14 มิถุนายน) - มร.เธียรี เลอ เกอเนส ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลและพัฒนาชาติสมาชิกฟีฟา เดินทางมาตอบข้อซักถามเรื่องธรรมนูญใหม่ต่อสโมสรสมาชิกว่า ฟีฟาเห็นว่าธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยไม่สอดคล้องกับที่ฟีฟากำหนดไว้ เช่น ระบบการเลือกตั้งที่เลือกนายกคนเดียว อาจส่งผลให้การทำงานต่อจากนี้มีปัญหาได้ ทางฟีฟาจึงมีความเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้น ส่วนเรื่อง 72 เสียงนั้น ก็เห็นชอบด้วย เพราะอยากให้มองว่าอย่าเอาอนาคตของฟุตบอลไทยไปฝากไว้กับทีมสมัครเล่น ขณะที่ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของ วิรัช ชาญพานิชย์ ยืนยันไม่สนใจเข้าร่วมประชุม เนื่องจากมองว่า “บังยี” มีตำแหน่งเป็นถึงบอร์ดฟีฟา แต่กลับไม่มีใครเชื่อถือ
ประชุมล่ม (15 มิถุนายน) - การประชุมใหญ่พิเศษของสมาคมฯเพื่อขอเสียงโหวตจำต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากศาลจังหวัดมีนบุรี ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามคำฟ้องของสโมสรฟุตบอล พัทยา จำกัด (พัทยา เอฟซี) โดยมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การสั่งห้ามนำข้อบังคับฉบับใหม่มาโหวตรับรองในวันดังกล่าว แล้วใช้ธรรมนูญฉบับเดิมปี 2546 ที่ยังไม่มีการแก้ไขข้อบังคับใหม่ นำมาใช้เลือกตั้งนายกสมาคม โดยมี สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ของคดี ตามด้วย นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฯ เป็นจำเลยที่ 2
ฝ่ายค้านหวังจัดเลือกตั้งเอง (16 มิถุนายน) - หลังจากการประชุมต้องล่มไป ส่งผลให้วันถัดมา วรวีร์ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปีโดยปริยาย ทำให้ อรรณพ สิงห์โตทอง เตรียมรวบรวมเสียงสโมสรสมาชิก 1 ใน 3 เพื่อยื่นเรื่องต่อ กกท.ให้เข้าจัดการประชุมเลือกตั้งฯโดยใช้ข้อบังคับเดิมภายใน 21 วัน ตามอำนาจของ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528 แล้วค่อยแก้ให้เป็นไปตามมาตรฐานของฟีฟา ให้ทันก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม นี้
ฟีฟาสั่งพัทยาฯถอนฟ้อง (18 มิถุนายน) - ฟีฟา ร่อนหนังสือถึงสมาคมฟุตบอลฯ ให้ดำเนินการให้สโมสร พัทยาฯ ถอนฟ้องก่อนวันที่ 24 มิถุนายน มิเช่นนั้นจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมด่วน และอาจส่งผลให้ประเทศไทยโดนแบนได้ พร้อมสั่งลูกหนังไทยให้ใช้ธรรมนูญใหม่จัดการเลือกตั้งภายในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งสุดท้ายพัทยาฯได้ยอมถอนฟ้องเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน โดยให้เหตุผลว่า วรวีร์ ไม่มีอำนาจในการบริหารงานแล้วจึงไม่จำเป็นต้องฟ้องต่อ
วรวีร์ ชี้แจงออกทีวี (25 มิถุนายน) - วรวีร์ ชี้แจงผ่านรายการโทรทัศน์ยืนยันว่าตนเองยังมีอำนาจบริหารงาน จนกว่าจะมีสภากรรมการชุดใหม่ ส่วนเรื่องธรรมนูญใหม่ฟีฟา ตนได้เสนอต่อที่ประชุมของสมาคมฯตั้งแต่ พ.ศ. 2552 แล้ว และฟีฟาเองเป็นฝ่ายเข้ามาศึกษาพร้อมกำหนดให้ประเทศไทยใช้โครงสร้าง 72 เสียงในการเลือกตั้งเอง ไม่ใช่ฝ่ายตนที่ยื่นเข้าไป อีกทั้งกำหนดชัดเจนว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก่อนถึงจะจัดการเลือกตั้งได้
ถึงเวลานี้คงต้องรอดูว่ากลุ่ม ชลบุรี และ บุรีรัมย์ จะกล้าประกาศจัดการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ หรือไม่ และหากว่าจัดการเลือกตั้งสำเร็จลุล่วงไปแล้ว กลุ่มอำนาจเก่าอย่าง “บังยี” ที่ดูแล้วคงไม่ยอมวางมือง่ายๆ เพราะมีเดิมพันสูงจะออกมาเตะตัดขาคู่แข่งด้วยการอาศัยบารมีความเป็นบอร์ดฟีฟาของตัวเองให้ข้อมูลที่เป็นผลร้ายเพื่อแบนวงการลูกหนังไทยยุคใหม่หรือไม่? กันต่อไป