ASTV ผู้จัดการรายวัน - สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) จุดประเด็นร้อนเปิดโปงเกมลูกหนังกว่า 680 แมตช์ว่ามีนักเตะและเจ้าหน้าที่รวมกว่า 425 ชีวิตเข้าไปพัวพัน "ล็อกผล ล้มบอล" ซึ่งกำลังระบาดอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยจากการที่ มร.โยชิดะ โตชิมิตซึ เชิ้ตดำชาวญี่ปุ่น ยอมรับว่าได้รับการติดต่อจากมือมืดให้ตัดสินเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในศึกฟุตบอลมูลนิธิไทยคม เอฟเอ คัพ 2012 ระหว่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับ อาร์มี ยูไนเต็ด เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดกระทบชิ่งเข้ามา คงถึงเวลาแล้วที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ต้องดำเนินการสืบสวนอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีสโมสรฟุตบอลของไทย และขจัดเรื่องทุจริตให้สิ้นซากเสียที
ต้นตอคือ สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ได้รับแจ้งจาก มร.โยชิดะ โตชิมิตซึ ผู้ตัดสินเกมเดิมพันคว้าโควตาไปลุยศึกเอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก 2013 รอบคัดเลือก ว่ามีความไม่ชอบมาพากลในแมตช์ที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เบียดชนะ อาร์มี ยูไนเต็ด 2-1 เนื่องจากมีมือมืดติดต่อเข้ามาก่อนให้ตัดสินเอนเอียงในคู่ดังกล่าว ดังนั้น "เอเอฟซี" จึงได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าว เบื้องต้น นายวรวีร์ มะกูดี ประมุขลูกหนังไทย เตรียมเหินฟ้าไปร่วมสัมนาถกปัญหาล้มบอล "อินเตอร์โปล" กับทางเอเอฟซี ที่สำนักงานใหญ่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ โดยมีตำรวจสากล (ยูโรโปล) จากทาง ฟีฟา เดินทางไปร่วมสืบด้วย
ถึงแม้ "บังยี" เอ่ยปากต้องรอหลักฐานจากบันทึกของ มร.โยชิดะ ที่เขียนให้ไว้กับ "เอเอฟซี" ทว่า นายวรวีร์ ผู้มีอำนาจสูงสุดในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย สามารถสั่งการให้ ''บิ๊กย้อย'' พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงการฟุตบอลไทย (คปบ.) ที่ทางสมาคมฯ แต่งตั้งให้เข้ามาปราบปรามการล้มบอล ดำเนินการสืบเสาะหาหลักฐานเบื้องต้นได้เลย
อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.วรพงษ์ กลับยอมรับกับทีมข่าว MGR Sport ว่า "ตอนนี้ผมยังไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึกมากนัก ต้องแล้วแต่ทางสมาคมฟุตบอลฯ ว่าจะมอบหมายให้เราจัดการในเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากเรายังไม่มีอำนาจมากพอ เพราะหากพบผู้ที่มีความผิดจะเป็นแค่ในส่วนของสมาคมฟุตบอลฯ ไม่ใช่ในส่วนภาครัฐ จึงยังไม่มีกฎหมายมาลงโทษ ต้องรอ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ กำหนดใช้เสียก่อนเราจึงจะปราบปรามได้อย่างเต็มที่ ตอนนี้ก็ได้แต่วอนให้ทุกสโมสรและผู้ตัดสินร่วมมือลงสัตยาบันร่วมกันว่าจะเล่นกันแบบแฟร์เพลย์ ส่วนพวกโต๊ะรับพนันบอลเราก็สืบเสาะจัดการโดยตลอดอยู่แล้วในฐานะที่เป็นตำรวจ"
ขณะที่ "บังยี" เผยภายหลังการประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า "เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ คปบ. เนื่องจากหน่วยงานนั้นเก่าเกินไป" ทำให้เป็นที่น่าฉุกคิดว่าอำนาจในมือของสมาคมฟุตบอลฯ มีมากน้อยแค่ไหน ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเองเลยหรือ ต้องรอเพียงตามคำตัดสินของ ฟีฟา เท่านั้นหรือไม่ ทั้งที่เหตุการณ์ฉาวโฉ่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหากมอบอำนาจให้ "บิ๊กย้อย" ในฐานะที่เป็นตำรวจ คงสามารถดำเนินการสืบสวนหาโทรศัพท์ลึกลับที่ต่อสายหา มร.โยชิดะ มาไขปริศนาเรื่องดังกล่าวได้ไม่ยาก ว่ามือมืดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 2 สโมสรข้างต้นก็ดำเนินตามกฎกันไป แต่หากไม่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสามารถล้างมลทินให้กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และอาร์มี ยูไนเต็ด ที่โดนตราหน้าว่าพัวพันล้มบอลไปแล้ว ที่สำคัญถ้าเป็นใบสั่งจากนักพนัน จะได้หาวิธีปราบปรามให้สิ้นซากต่อไป
นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของ "บังยี" สำหรับความเหมาะสมกับการนั่งตำแหน่งประมุขวงการลูกหนังไทยต่อไปหรือไม่ เพราะการขจัดปัญหา "ล็อกผล ล้มบอล" ถือเป็นหนึ่งมาตรการในการยกระดับวงการฟุตบอลแดนสยามให้มีมาตรฐานมากขึ้น ในเมื่อทุกวันนี้การพนันขันต่อในวงการฟุตบอลมีมากขึ้น "ไทยลีก" เป็นอีกหนึ่งลีกที่นักเสี่ยงโชคหันมาลงทุนแบบผิดกฎหมาย ถ้าขืนปล่อยให้ชนวนใหญ่ที่ปะทุขึ้นมาแล้วเป็นเพียงแค่ลมพัดหายไป สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยจะโดนตราหน้าได้ว่าเป็นเพียง "เสือกระดาษ" เท่านั้น