เอเยนซี-บรรดาสโมสรใหญ่-น้อยประจำเวที พรีเมียร์ชิป รุมต่อต้านพร้อมตำหนิแนวความคิด เอียน อายร์ ผู้อำนวยการด้านการจัดการของ ลิเวอร์พูล เพื่อนร่วมลีกว่าเป็นการทำลายวงการลูกหนังอังกฤษอย่างแท้จริง หลังพยายามปลุกระดมให้แต่ละทีมแยกตัวจาก พรีเมียร์ ลีก เป็นเอกเทศเพื่อหันมากอบโกยเงินก้อนโตจากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกันเอง
อายร์ มองว่าควรปฎิวัติระบบแบ่งเงินลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีวีที่อยู่ในมือของ พรีเมียร์ ลีก แบ่งสรรปันส่วนให้ทั้ง 20 ทีม ปัจจุบันแพ็คเกจยิงสัญญาณนอกประเทศอยู่ที่ 3.2 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 160,000 ล้านบาท) ครอบคลุมปี 2010-2013 โดยต้องการให้เดินตามรอยโมเดล รีล มาดริด และ บาร์เซโลนา ของ ลา ลีกา สเปน เนื่องจากเชื่อว่าตลาดใหญ่อย่างเช่นเอเชียแห่งเดียวก็มีกำลังซื้อมหาศาลก็น่าจะทำเงินได้มากกว่าที่รับอยู่ทุกวันนี้และน่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทีมยักษ์ใหญ่สามารถทำเงินได้มากกว่าที่ควรจะเป็น
ผอ.ด้านการจัดการประจำถิ่น แอนฟิลด์ ยกตัวอย่างพาดพิงที่เหมือนเป็นการดูถูก โบลตัน วันเดอเรอร์ส ที่ก่อตั้งและประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ก่อนเมื่อปี 1923 ด้วยซ้ำ ว่าไม่มีใครใน กัวลา ลัมเปอร์ ยอมจ่ายค่าสมาชิกของ แอสโทร หรือ อีเอสพีเอ็น เพื่อดูทีมนี้ ร้อนถึง เดฟ วีแลน ประธานสโมสร วีแกน แอธเลติก ต้องออกมาปกป้อง "มุมมองของ อายร์ เหมือนปีศาจ ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าเขาจะพูดเช่นนี้ คิดแค่ 'เราสามารถทำเงินมากมายมหาศาลได้อย่างไร?' แต่ที่สำคัญกว่าคือเงินจะต้องไม่ทำลายจิตวิญญาณของ พรีเมียร์ ลีก และฟุตบอลอังกฤษ"
"สิ่งเลวร้ายที่สุดก็คือทีมอย่าง ลิเวอร์พูล ถือเป็นท็อปโฟร์ แต่ต้องการกำจัดคู่แข่งกว่าครึ่ง เราจะกลายเป็น ลา ลีกา สเปน ที่แข่งกันแค่ 2 ทีม ซึ่งแน่นอนเหมือนไม่ใช่ลีก เราคือหนึ่งในลีกที่ดีที่สุดในโลก แต่ ลิเวอร์พูล กลับต้องการกำจัดทีมอย่าง วีแกน โบลตัน นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส และ ซันเดอร์แลนด์ ออกไป" วีแลน เผย
ส่วนมุมมองของ 2 ทีมใหญ่ก็ค้านหัวชนฝา ไม่ว่าจะเป็น กระบอกเสียงของ เชลซี เผยว่า "เราสนับสนุน พรีเมียร์ ลีก กับระบบที่เป็นอยู่นี้และต้องการให้ดำเนินต่อไปคือให้พวกเขาเป็นฝ่ายขายลิขสิทธิ์ให้ทีวี" เดวิด กิลล์ ประธานบริหาร แมนฯยู ที่มีฐานแฟนบอลถึง 333 ล้านคนทั่วโลกกล่าวว่า "ระบบการจัดการแบบครอบคลุมที่มีอยู่เห็นได้ชัดว่าประสบความสำเร็จดีอยู่แล้ว" ส่วน อาร์เซนอล แมนเชสเตอร์ ซิตี และ ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ก็หนุนระบบกระจายรายได้ส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ทีวี หลังจากที่ฤดูกาลล่าสุดรับไปทีมละ 17.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 895 ล้านบาท)
โมเดลของ ลา ลีกา ที่ อายร์ ต้องการให้นำเข้ามาใช้นั้นทำให้ รีล มาดริด และ บาร์เซโลนา แผ่อำนาจไปทั่วทั้งยุโรปโดยเฉพาะเม็ดเงินที่ไม่อั้นในการซื้อนักเตะส่งผลถึงผลงานในสนาม แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจุดเริ่มต้นของลีกสเปนไม่มีข้อตกลงร่วมกันเรื่องส่วนแบ่งลิขสิทธิ์เหมือนอังกฤษ แต่ละสโมสรจัดการและบริหารเองตั้งแต่นานนมจวบจุดทุกวันนี้
ต้องยอมรับว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล หลุดจากท็อปโฟร์เรียบร้อยแล้วเหตุผลหลักก็คือผลงานในสนามที่ไร้แชมป์นับตั้งแต่ถ้วย เอฟเอ คัพ ปี 2006 รวมถึงไม่ได้ไปเล่น ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก อีกทั้งเรื่องการตลาดก็ตามหลังบรรดาสโมสรระดับแนวหน้าด้วยกันที่มีแนวทางเป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็น แมนฯยู นับตั้งแต่ มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้ามาฮุบทีมเมื่อปี 2005 เป็นหนี้มหาศาลถูกต่อต้านจากแฟนบอล แต่ตอนนี้ผลงานเป็นชิ้นเป็นอันค่อยๆ ปลดหนี้และปัจจุบันกลายเป็นทีมกีฬาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก อาร์เซนอล ก็ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากแนวทางนอกสนามแม้ผลงานจะมีตกไปบ้าง สุดท้าย แมนฯซิตี เพิ่งฟันเงิน 350 ล้านปอนด์ (ประมาณ 17,500 ล้านบาท) จากการเปลี่ยนชื่อสนามเป็น อิติฮัด สเตเดียม
สำหรับ ลิเวอร์พูล ต้องการให้อีก 13 ทีมยกมือเห็นด้วยแนวความคิดนี้ถึงจะผ่านฉลุย แต่เท่าที่ดูแล้วเหมือนจะเป็นหมัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ "หงส์แดง" ต้องการผลักดันตัวเองกลับขึ้นสู่แถวหน้าของประเทศอีกครั้ง ทว่าหารู้ไม่ว่าเป็นการเหยียบศพของผู้อื่นขึ้นไป แน่นอนไม่ใช่หนทางของผู้กล้าและทีมใหญ่ที่สมควรได้รับความยำเกรงอย่างแท้จริง