สวัสดีครับท่านนักกอล์ฟและท่านสมาชิกเว็บไซต์ www.manager.co.th ทุกท่าน ในบทเรียนนี้ผมขอพูดถึงอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวงสวิงของท่านนักกอล์ฟครับ โดยวิธีดังกล่าวก็คือ “การหาตัวอย่างหรือแบบอย่างที่ดีหรือต้นแบบของสวิง” ที่ท่านนักกอล์ฟชื่นชอบและพยายามที่จะทำตามหรือเรียนรู้จากนักกอล์ฟท่านนั้นๆ
วิธีการหาต้นแบบสวิงนี้เป็นวิธีที่ใช้กันมาอย่างยาวนานและยังคงใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบันครับ โดยการเรียนรู้ในแบบนี้ใช้ได้ดีกับท่านนักกอล์ฟที่อาจไม่เคยมีวงสวิงมาก่อน จากนั้นใช้การเรียนรู้และพยายามในการปฏิบัติตามจากรูปแบบของสวิง
ในอดีตถ้าท่านนักกอล์ฟปฏิบัติไม่เหมือนตาม “โมเดล” หรือ “ต้นแบบ” ที่ท่านกำลังปฏิบัติตามนั้น เรามักอาจได้ยินคำว่า “ผิด” อย่างไรก็ตาม จากกรณีเช่นนี้ถ้าท่านเข้าใจหลักการหรือกฎของวงสวิงในกอล์ฟตั้งแต่บทเรียนต้นๆ ที่ผมได้นำเสนอมาตลอดนั้นก็จะช่วยท่านนักกอล์ฟทำความเข้าใจในเรื่องของสวิงได้อีกมาก เพราะท่านไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกับต้นแบบของสวิงที่ได้ถูกเลือกมาให้ท่านนักกอล์ฟได้หมด เพราะอาจจะเป็นเพราะความแข็งแกร่งของร่างกายต่างกัน, การฝึกซ้อมที่มีไม่เท่ากัน, โครงสร้างทางร่างกายแตกต่างกัน, ธรรมชาติหรือความคุ้นเคยที่ท่านนักกอล์ฟมีก็ไม่เหมือนกัน อะไรทำนองนี้ครับ
ในอดีตมือหนึ่งหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายกีฬา ไม่ว่าจะทำหรือใช้อะไร แฟนๆหรือบุคคลที่ชื่นชอบก็จะปฏิบัติตามเป็นต้นแบบกันหมด เช่น “ไทเกอร์ วูดส์” อดีตมือหนึ่งของโลก ครั้งหนึ่งไม่ว่า “ไทเกอร์” จะทำอะไรแฟนกอล์ฟของเขาก็จะปฏิบัติตามหมด เช่น เริ่มตั้งแต่การจับกริป การยืน การเล็งของเขา จนไปถึงการสร้างโครงสร้างทางสวิงที่พยายามทำให้เหมือนเขา ก็เป็นเรื่องที่ท่านนักกอล์ฟควรจะคิดพิจารณาด้วยครับว่า บางสิ่งที่สามารถทำได้ บางสิ่งทำไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรือผิดครับ
กระนั้นจะเป็นการดีกว่าไหมถ้าท่านนักกอล์ฟใช้ความเข้าใจหรือเหตุและผลมากขึ้นกับ การพัฒนาเกมกอล์ฟของท่าน ซึ่งถ้าเข้าใจถึงหลักของเหตุและผลแล้ว ท่านนักกอล์ฟก็จะสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะ เราใช้ความเข้าใจมากขึ้นกว่าวิธีครูพักลักจำ
ด้วยเหตุนี้ในคอลัมน์ Golf Lesson ตั้งแต่ตอนแรก ผมจึงพยายามให้ความรู้กับท่านนักกอล์ฟถึงโครงสร้างของวงสวิงว่า หากท่านต้องการตีให้ได้ระยะเพิ่มขึ้น ท่านนักกอล์ฟควรทำอะไร? หรือ หากท่านต้องการตีให้ได้ทิศทาง ท่านนักกอล์ฟควรทำอย่างไร? เพราะกฎของธรรมชาติหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เกิดขึ้นเองครับ แต่มีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ และในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ก็หาเหตุผลอธิบายลำบาก ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจก็เรื่องหรือหลักการพื้นฐานก่อนครับ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการกอล์ฟโลกก็ได้ต้อนรับมือ 1 หน้าใหม่ของวงการกอล์ฟโลก (อีกแล้ว) หลังพ้นจากยุคการผูกขาดมือ 1 โดย ไทเกอร์ วูดที่กินเวลายาวนาน โดยเจ้าของตำแหน่งมือ 1 คนใหม่ก็คือ ลุค โดนัลด์ (Luke Donald) โปรกอล์ฟจากอังกฤษ
ในอดีต เนื่องจากตำแหน่งมือหนึ่งของโลกผูกขาดโดยไทเกอร์มานาน การเรียนการสอนในช่วงเวลานั้นจึงมีไทเกอร์เป็นต้นแบบมาตลอด ซึ่งในความเห็นของผม หลายๆ จุดก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก๊อปปี้ไทเกอร์มาทั้งหมด แต่ก็เอาละครับ เมื่อตำแหน่งมือ 1 ของโลกเปลี่ยนมือแล้วเราจะลองเปลี่ยนมาดูสไตล์ในการสวิงของลุค โดนัลด์บ้างดีไหมครับ
ผมเห็นว่าการดูวงสวิงจากลุค โดนัลด์ มีข้อดีอย่างหนึ่งแน่ๆ คือ มือ 1 โลกคนใหม่นี้ไม่ใช่นักกอล์ฟตัวอย่าง ไม่ได้ตีเข่นแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่ได้มีเกมกอล์ฟที่หวือหวา หรือ อู้หู อ้าหา แต่เป็นนักกอล์ฟแบบว่าไปเรื่อยๆ จนได้ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดคือ ตำแหน่งมือ 1 ของโลก ซึ่งจุดนี้เองทำให้ผมคิดว่า นักกอล์ฟธรรมดาๆ อย่างเราๆ น่าจะได้อะไรจากการมองดู และศึกษาวิธีการเล่นของเขา
จริงๆ ความฝันสูงสุดของผมอีกประการหนึ่งในฐานะนักกีฬาก็คือ อยากเห็นนักกอล์ฟไทยสามารถก้าวขึ้นไปถึงจุดที่สูงที่สุดได้สักวัน เช่นเดียวกันกับที่ หลี่ น่า นักเทนนิสหญิงของจีนสามารถคว้าแชมป์เทนนิส แกรนด์แสลมได้เป็นผลสำเร็จในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถ้าคนไทยอยากได้แชมป์เฟรนช์ โอเพ่นอย่างเขาบ้างเมืองไทยก็ควรมีคอร์ทดิน (Clay Court) ก่อน ส่วนมหาอำนาจในเอเชียอีกประเทศหนึ่งอย่างอินเดีย เดี๋ยวนี้ชาวภารตะก็เริ่มจับไม้แบดมินตันกันอย่างจริงจังแล้ว และตีเก่งเสียด้วย ซึ่งทั้งจีนกับอินเดียเดี๋ยวนี้ก็จับไม้กอล์ฟแล้ว ทางที่ดีเรามาติดตามวงการกอล์ฟโลกกันต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคตครับ แล้วคนไทยจะไปสูงสุดได้ที่ตรงไหน เรามาช่วยกันเป็นกำลังใจให้เหล่าบรรดานักกอล์ฟไทยกัน
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า ... สวัสดีครับ
“โปรเอก” ม.ล.โอรัส เทวกุล, Certified Golf Teaching Professional
Facebook : Millennium Golf Academy
Email :orusjaa@yahoo.com