ASTVผู้จัดการรายวัน - ลอร์ด เดวิด ทรีสแมน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ออกโรงแฉบอร์ดฟีฟ่า 4 ราย มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสในการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 โดยมีรายชื่อของ "บังยี" วรวีร์ มะกูดี ประมุขลูกหนังไทยติดโผไปด้วย ด้าน เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่า รับพร้อมสอบสวนถ้ามีหลักฐานชัดเจน
สำนักข่าวดังในต่างประเทศ อาทิ รอยเตอร์, เอเอฟพี, บีบีซี, สกาย สปอร์ตส, เดลี เมล์, เดอะ การ์เดียน, อีฟนิง สแตนดาร์ด, อีเอสพีเอ็น, ยูโรสปอร์ต และอื่นๆ ต่างประโคมข่าว ลอร์ด เดวิด ทรีสแมน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เข้าชี้แจงต่อรัฐสภาของสหราชอาณาจักรเมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงเหตุผลที่อังกฤษล้มเหลวในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 โดยมีการแฉว่ามีสมาชิกในคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ถึง 4 รายเกี่ยวข้องกับขบวนการฮั้วกับอังกฤษ เพื่อแลกคะแนนโหวตให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 ที่สุดท้ายแล้วเมืองผู้ดีต้องอกหักด้วยการพ่ายแพ้ให้ “รัสเซีย” อย่างราบคาบ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ซึ่ง 1 ใน 4 รายที่ ลอร์ด ทรีสแมน กล่าวถึงมีชื่อ วรวีร์ มะกูดี ที่เพิ่งประกาศล้มการประชุมใหญ่ประจำปี พ.ศ. 2553 และวาระการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมอยู่ด้วย โดยอดีตประธานเอฟเอระบุว่า "บังยี" ต้องการค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์จากเกมกระชับมิตรระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติอังกฤษ ที่เคยมีการหารือกันว่าจะจัดขึ้นมาก่อนที่จะถูกพับแผนไปในที่สุด
ส่วนอีก 3 รายที่เหลืองประกอบด้วย แจ็ก วอร์เนอร์ รองประธานฟีฟ่าชาวตรินิแดดแอนด์โตเบโก, นิโคลัส เลออซ ฟีฟ่าเมมเบอร์ชาวปารากวัย และ ริคาร์โด เตเซรา บอร์ดฟีฟ่าชาวบราซิล
ขณะที่ เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ที่เตรียมลงสมัครเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานฟีฟ่าสมัยที่ 4 ในการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 61 ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ณ สำนักงานใหญ่ฟีฟ่า ในนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ออกมากล่าวว่า "ผมเป็นประธาน (ฟีฟ่า) และผมก็มีจริยธรรมของผมเอง ซึ่งผมตอบได้แค่เรื่องของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถตอบแทนสมาชิกในคณะกรรมการบริหารได้พวกเขาไม่ได้ถูกเลือกมาโดยสภากรรมการชุดเดียวกันกับที่ผมได้รับการเลือกตั้ง แต่มาจากทั่วทุกสารทิศ ดังนั้น ผมจึงบอกไม่ได้ว่าในบรรดาพวกเขาทั้งหมด ใครบ้างที่เป็นเทวดาหรือเป็นซาตาน"
"เรื่องนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่ได้รับการเปิดเผย ซึ่งคงต้องให้เวลากับเราในการรวบรวมหลักฐานและเริ่มลงมือสอบสวน และขอย้ำว่าหากเรามีหลักฐานที่ชัดเจนก็จะดำเนินการลงโทษขั้นเด็ดขาดทันที ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้ผมรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก" แบลตเตอร์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับฟีฟ่าเคยลงโทษ อามอส อดามู และ เรย์นัลด์ เตมารี สองบอร์ดฟีฟ่าฉาวที่พัวพันการคอร์รัปชันขายเสียงโหวตเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยในราย อดามู ถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในวงการลูกหนังโลกเป็นเวลา 3 ปี และปรับเงินอีก 10,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 300,000 บาท) ขณะที่ เตมารี โดนลงโทษเป็นเวลา 1 ปีและถูกปรับเงิน 5,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 150,000 บาท) หลังจากทั้งคู่ถูก “ซันเดย์ ไทม์” สื่อเมืองผู้ดีเปิดโปงว่าเรียกร้องเงินจากประเทศผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022
ส่วนความเคลื่อนไหวภายในประเทศไทยนั้น ยังคงเงียบสนิทเนื่องจาก นายวรวีร์ มะกูดี เดินทางไปต่างประเทศขณะที่นายองอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฯ ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ขณะที่นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งมีหน้าที่กำกับควบคุมโดยตรงกล่าวถึงเรื่องฉาวของนายวรวีร์ที่ถูกแฉโดยระบุชื่อและข้อเรียกร้องกลางรัฐสภาอังกฤษว่า “เป็นการกล่าวหาของต่างประเทศซึ่งถือว่าเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยไม่มีหลักฐานหรือเอกสารชี้ชัดว่ามีมูลความผิดจริงการแก้ปัญหาเรื่องนี้คงต้องให้เป็นหน้าที่ของกกท. ในการแก้ปัญหาดังกล่าว”
ขณะที่นางนฤมล ศิริวัฒน์คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ได้แสดงความคิดเห็นกับผู้สื่อข่าวต่อเรื่องฉาวของนายกสมาคมฟุตบอลไทยว่า “ส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ภาพลักษณ์ของท่านนายกฯเสียหายเพราะถือว่าเป็นผู้นำในสมาคมกีฬาขนาดใหญ่เวลานี้ต้องรอให้ท่านออกมาชี้แจงต่อข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องของการเลือกตั้งนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกัน ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป”
ทางด้านนายพินิจ งามพริ้ง ประธานกลุ่มเชียร์ไทย ยอมรับว่าไม่อยากพูดถึงกรณีดังกล่าว เนื่องจากต้องการฟังข้อเท็จจริงจากฝ่าย "บังยี" ก่อน แต่เชื่อว่าการออกมาแฉเรื่องดังกล่าวจะส่งผลให้มีแฟนฟุตบอลมารวมตัวชุมนุมประท้วงเลื่อนการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ เวลา 14.00 น. ของวันอังคารที่ 17 พฤษภาคมนี้ ณ สนามศุภชลาศัยอย่างแน่นอน