นับถอยหลังกันแล้วสำหรับการเลือกเจ้าภาพกีฬาแห่งมวลมนุษย์ชาติประจำปี 2016 โดยวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) จะทำการประชุมประเทศสมาชิกกันที่นครโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อร่วมกันโหวตเมืองเจ้าภาพ ซึ่ง 4 เมืองที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายประกอบด้วย โตเกียว (ญี่ปุ่น), ชิคาโก (สหรัฐฯ), มาดริด (สเปน) และ ริโอ เดอ จาเนโร (บราซิล) โดยสำนักข่าว"รอยเตอร์" ได้ทำการแยกความโดดเด่นของแต่ละเมือง ในด้านต่างๆ อาทิเช่น"สนามกีฬา" "การเงิน" "ที่พัก" "เวลาเดินทาง" หรือแม้แต่ "การตื่นตัวของประชากร" ไว้ดังนี้
"สนามกีฬา"
จำนวนสนามกีฬาของแต่ละชาตินั้นจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ยชาติละ 32 สนาม แต่เรื่องของมาตรฐานและพร้อมใช้งานได้ทันทีนั้น กรุงโตเกียวนำมาที่ 1 ด้วยการมีสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานอยู่ถึง 34 แห่งโดยครึ่งหนึ่งของสนามทั้งหมด แสตนบายพร้อมใช้งานได้ทันที เนื่องจากเคยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 1964 อย่างไรก็ตามหากกรุงโตเกียวได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพขึ้นมาจริงๆ รัฐบาลมีแผนสร้างสนามขึ้นมาใหม่อีก 10 สนามโดยที่นักกีฬาสามารถไปถึงสนามแข่งขันภายใน 10 นาทีเท่านั้น จากการคมนาคมที่ทันสมัยกว่าอีก 3 เมืองคู่แข่ง
"การเงิน"
เรื่องการลงทุน หรือทุ่มทุนสร้าง แน่นอนคงไม่มีใครเกินประเทศ สหรัฐอเมริกา ด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 1แสน2หมื่นล้านบาท) สำหรับกีฬาโอลิมปิก 2016 เพียงครั้งเดียว โดยมากกว่าประเทศสเปนถึง 1.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) ซึ่ง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีขวัญใจชาวมะกัน เตรียมบินไปกรุง โคเปนเฮเกน ประเทศ เดนมาร์ก ในวันศุกร์นี้ด้วยตนเอง เพื่อช่วยล็อบบี้ ไอโอซี จากชาติต่างๆ ช่วยทำความฝันของชาวเมือง 'ชิคาโก' ให้กลายเป็นจริง
"ที่พัก"
ในหัวข้อนี้ เมือง ริโอ ผลุดไอเดียบรรเจิด ด้วยการคิดแผนสร้างห้องพักกว่า 8500 ห้องบนเรือสำราญสุดหรู ให้กับนักกีฬา ในขณะที่คู่แข่งอย่าง โตเกียว หรือ ชิคาโก เน้นความใกล้ระหว่าง สนามกีฬากับที่พัก ผู้คนในปรเทศ บราซิล ต่างหวังให้เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของตนเองนี้ได้จัดโอลิมปิก กับเขาบ้างเสียทีหลังจากที่อกหักอย่างแรง ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2012 ถามว่าการเป็นเจ้าภาพนี้จะได้อะไรหรือส่งผลประโยชน์อะไร ? "หากเราได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ จะทำให้อัตราการจ้างงานจะมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งจะทำให้ปัญหาอาชญากรรม และการคมนาคม ที่เป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ลดลงได้อย่างแน่นอน" เซอร์จิโอ คาบราล นายกเทศมนตรีของ เมือง ริโอ ให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะเดินทางไปกรุง โคเปนเฮเกน เพื่อลุ้นผลโหวตครั้งสำคัญนี้
"เวลาเดินทาง"
เนื่องจาก ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อ ด้านการคมนาคมขนส่ง มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และการวางแผนผังที่จัดสนามการแข่งขันในทุกประเภทกีฬา (ยกเว้น ยิงปืน)ไว้ใกล้กัน ทำให้การเดินทางจากที่พักไปยังสนามกีฬาในกรุงโตเกียวนั้น ใช้เวลาไมถึง 10 นาที ส่วนกรุงมาดริด น่าจะมีปัญหาเรื่องดังกล่าวมากที่สุดเนื่องจากแบ่งโซนหลักไว้ 2 โซน ทำให้ใช้เวลาการเดินทางนานกว่า 25 นาที
"การตื่นตัวของประชากร"
จากการสำรวจของ ไอโอซี ครั้งล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กรุงริโอของบราซิล และ มาดริด จากสเปน มีประชากรที่รู้สึกตื่นตัวและให้การสนับสนุนมากที่สุด ด้วยค่าเฉลี่ย 85 เปอร์เซนต์มากกว่า เมือง ชิคาโก และโตเกียว ที่มีเพียง 67 และ 56 เปอร์เซนต์ตามลำดับ โดยเฉพาะ กรุงมาดริด เมื่อวันอาทิตย์ที่ที่ผ่านมา(27 ก.ย.) ประชาชนนับหมื่นชีวิต พร้อมใจกันเดินทางมารวมตัวกันที่ จัตุรัส ซิบเลส ใจกลางกรุงมาดริด ประเทศสเปน เพื่อแสดงศักยภาพของผู้คนในเมืองอย่างคึกคัก
จาก 5 หัวข้อสำคัญที่ได้รวบรวมมานี้ จะเห็นได้ว่าทุกๆเมือง ล้วนมีจุดขายของตัวเองด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรุงโตเกียว (ญี่ปุ่น), ชิคาโก (สหรัฐฯ), มาดริด (สเปน) และ ริโอ เดอ จาเนโร (บราซิล) ซึ่งชาติใดจะได้สุขสมหวัง คืนวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคมนี้ตามเวลาประเทศไทย คงได้ทราบผลกันอย่างแน่นอน