xs
xsm
sm
md
lg

ลูกกอล์ฟนั้น...สำคัญไฉน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันนี้อุปกรณ์ต่างๆสำหรับการเล่นกอล์ฟถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจนช่วยยกระดับผลงานของผู้เล่นให้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ดูเหมือนว่าบรรดานักหวดจำนวนไม่น้อยจะให้ความสำคัญกับเรื่องของไม้กอล์ฟมากกว่าอุปกรณ์ชนิดอื่นซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างเช่น ลูกกอล์ฟ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสินค้าแต่ละรายต่างค้นหาวิธีการเพื่อทำให้บอลลอยออกไปไกลหลังจากถูกตีและมีทิศทางที่แม่นยำ

แต่ก่อนจะกล่าวถึงเทคโนโลยีของลูกกอล์ฟ มีบางเรื่องที่ผู้อ่านจำเป็นต้องรับทราบ ประการแรกเกี่ยวกับมาตรฐานของลูกกอล์ฟซึ่งรูปแบบที่ถูกต้องนั้นถูกกำหนดร่วมกันโดย สมาคมกอล์ฟสหรัฐอเมริกา (The United States Golf Association : USGA) และ เดอะรอยัล แอนด์ แอนเชียน กอล์ฟ คลับ (The Royal & Ancient Golf Club : The R&A) ซึ่งระบุว่าลูกกอล์ฟต้องมีน้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 1.62 ออนซ์ (ประมาณ 50 กรัม) และมีเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำสุดไม่น้อยกว่า 1.68 นิ้ว

ประการต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของลูกกอล์ฟยามลอยอยู่บนอากาศซึ่งมีความสัมพันธ์กับแรง (Force) ตามหลักการทางฟิสิกส์ 2 ชนิด โดยทันทีที่หน้าไม้กระทบเข้ากับลูกบอลหลังการไดร์ฟจะทำให้เกิดแบ็คสปิน (Back Spin) หรือลูกหมุนทวนเข็มนาฬิกาตรงข้ามกับทิศทางที่พุ่งไปข้างหน้าซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากแรงยก (Lift Force) โดยแรงชนิดนี้จะดันลูกในแนวตั้งจากล่างขึ้นบนแบบเดียวกับแรงที่เครื่องบินใช้ในการลอยตัว ส่วนแรงอีกชนิดคือแรงต้าน (Drag Force) เป็นแรงอันเกิดขึ้นจากการที่อากาศปะทะสวนทางกับลูกตั้งแต่เริ่มถูกตีจนกระทั่งตกลงสู่พื้น

ภายใต้กฎข้อบังคับและกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ บริษัทผู้ผลิตจำต้องคิดหาวิธีการอันจะทำให้ลูกกอล์ฟลอยตัวบนอากาศนานที่สุดเป็นระยะทางไกล โดยสรุปได้ว่าขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ

1. รอยบุ๋มของลูกกอล์ฟ (Dimples)

หลายคนอาจสงสัยมานานว่าเหตุใดลูกกอล์ฟจึงมีหลุมเล็กๆทั่วทั้งใบ โดยทั่วไปมีประมาณ 300-450 หลุม เหตุผลก็เพราะรอยบุ๋มเหล่านี้ช่วยสร้างแรงยกและลดแรงต้านจนทำให้ลอยอยู่บนอากาศนานและไกลว่าลูกกอล์ฟที่ผิวเรียบๆถึง 2 เท่า ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตจึงพยายามออกแบบพลิกแพลงบรรดาหลุมเหล่านี้ใหม่ ตัวอย่างเช่น การเรียงแถวแบบต่างๆ ปรับเพิ่มลดจำนวน หรือปรับความตื้นลึกหนาบางของหลุมเพื่อสร้างพื้นผิวที่จะทำให้ลูกบอลลอยตัวอยู่บนอากาศนานที่สุด

2. แรงอัดของลูกกอล์ฟ (Compression)

หากคุณเคยเห็นภาพนิ่งขณะที่ลูกกอล์ฟกำลังถูกตีจะพบว่ารูปร่างของมันเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยบริเวณที่ถูกหน้าไม้กระทบ การบิดเบี้ยวของรูปร่างดังกล่าวคือแรงอัดของลูกกอล์ฟ โดยแต่ละลูกมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุภายในลูกกอล์ฟ ตัวอย่างเช่น ลูกกอล์ฟที่ผลิตจากยางจะมีความแตกต่างจากโพลิเมอร์ (Polymer) เป็นต้น หรือขึ้นอยู่กับวิธีการผลิตลูกกอล์ฟ ตัวอย่างเช่น ลูกกอล์ฟที่ผลิตจากการใช้วัสดุแข็งทรงกลมชนิดหนึ่งมาเคลือบผิวด้วยยูริเทน (Urethane) ย่อมมีความต่างจากลูกที่ก่อรูปทรงขึ้นมาจากการนำวัสดุต่างชนิดมาซ้อนกันหลายชั้น เป็นต้น โดยความแตกต่างของแรงอัดดังกล่าวจะส่งผลต่อระยะการเดินทางในอากาศของลูกกอล์ฟแต่ละลูก

เราสามารถทราบแรงอัดของลูกกอล์ฟแต่ละลูกได้จากการดูตัวเลขที่ระบุอยู่บนผิวของลูก เช่น ตัวเลข 70-80 เป็นสีเขียว ตัวเลข 90 เป็นสีแดง ตัวเลข 100 เป็นสีดำ เป็นต้น โดยแต่ละตัวเลขมีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ลูกกอล์ฟที่ระบุตัวเลข 80 ออกแบบมาสำหรับนักกอล์ฟที่มีวงสวิงช้าหรือคนอายุมาก เพราะลูกทำจากวัสดุที่มีความอ่อนสามารถเปลี่ยนรูปทรงง่ายกว่า คล้ายกับหลักการของสปริงซึ่งจะช่วยให้ลูกกอล์ฟกระดอนกับหน้าไม้ยามหวดได้ดี ขณะที่ตัวเลข 90 เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่วงสวิงไม่ช้าหรือเร็วเกินไป ส่วนตัวเลข 100 เหมาะกับคนที่มีพละกำลังการตีมากหรือมีวงสวิงเร็ว เป็นต้น

ดังนั้น หากนักกอล์ฟท่านใดจะออกรอบครั้งต่อไปควรใส่ใจสักนิดกับการเลือกใช้ลูกกอล์ฟให้เหมาะสมกับตนเองเพื่อที่คุณจะสามารถแสดงศักยภาพการตีได้อย่างเต็มร้อยที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น