xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิต “โปร” โลกของสวิงพันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทเกอร์ วูดส์
ไทเกอร์ วู้ดส์ อยู่ในช่วงขาลง? ใครที่กล่าวหาสวิงเทพรายนี้ก่อนที่การแข่งขันอาร์โนลด์ พาลเมอร์ อินวิเทชั่นจะจบลงคงต้องกลืนน้ำลายตนเอง เพราะเวลานี้ “พี่เสือ” ไม่เพียงแต่จะคว้าแชมป์หากยังคงรั้งตำแหน่งโปรหมายเลขหนึ่งโลกต่อไป เช่นเดียวกับรายได้ระดับพันล้านที่ยังไม่หดหายหลังรายงานจากนิตยสาร “ฟอร์บส์” เปิดเผยว่า แม้ฤดูกาล 2008 ของ “พญาเสือ” จบลงอย่างรวดเร็ว แต่เจ้าตัวยังครองตำแหน่งสูงสุดของปีดังกล่าวและมากกว่าอันดับรองลงมาเกือบ 3 เท่า

ย้อนกลับไปที่ฤดูกาล 2008 วู้ดส์ ปิดฉากการแข่งขันของตนเองตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลังคว้าแชมป์เมเจอร์รายการ ยูเอส โอเพน อันเป็นถ้วยใบที่ 5 จากการลงแข่งเพียง 7 รายการของปีดังกล่าว ซึ่งเจ้าตัวทำเงินรางวัลจากการลงสนามเพียง 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 210 ล้านบาท) แต่ ไทเกอร์ คงต้องขอบคุณการทำข้อตกลงระยะยาวในการเป็นพรีเซนเตอร์ให้แก่สินค้าระดับชั้นนำของตนทั้ง แอคเซนเจอร์ (Accenture), อีเลคโทรนิก อาร์ท (Electronic Arts), เกเตอเรด (Gatorade), ยิลเลต (Gillette) และ ไนกี้ (Nike) จึงมีรายได้ชดเชยช่วงเวลาที่ร้างลาจากการโชว์วงสวิงไปสูงถึงราว 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.8 พันล้านบาท)

แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใช่ว่าโปรทำเงินปีละพันล้านบาทอย่าง “พญาเสือ” จะไม่ได้รับผลกระทบ เมื่อ เจเนอรัล มอเตอร์ (General Motor) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ บูอิค (Buick) ซึ่ง วู้ดส์ เป็นพรีเซนเตอร์มายาวนานตั้งแต่ปี 1999 ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้สัญญาที่มีต้องถูกยกเลิกไป แต่ต่อมาไม่นาน วู้ดส์ ก็ได้ เอทีแอนด์ที (AT&T) เข้ามาเสียบแทนอย่างทันควัน และไม่เพียงแต่จะฮอตด้วยตัวเลขของสปอนเซอร์ หากสวิงเทพอย่างวู้ดส์ ยังเป็นผู้ทำเงินรางวัลสูงสุดตลอดกาลของพีจีเอ ทัวร์ ด้วยจำนวนสูงถึง 83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 พันล้านบาท)

ส่วนอันดับสองเป็นของ วีเจย์ ซิงห์ ด้วยจำนวน 61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.1 พันล้านบาท) ซึ่งในฤดูกาล 2008 โปรชาวฟิจิรายนี้กลับมาสร้างผลงานยอดเยี่ยมอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์ถึง 4 รายการในจำนวนนี้เป็นทัวร์นาเม้นท์เฟดเอ็กซ์ คัพ ทำให้ซิงห์ ได้รับเงินโบนัสสูงถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อรวมกับรายได้จากการเป็นตัวแทนสินค้าให้แก่ คลีฟแลนด์ กอล์ฟ (Cleveland Golf) และ ฟุตจอย (Foot Joy) ทำให้ก้านเหล็กวัย 46 ปีได้เงินเพิ่มอีก 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.3 พันล้านบาท) เป็นรองเพียง วูดส์ และ ฟิล มิกเคลสัน โปรเบอร์สองของโลกที่เป็นพรีเซนเตอร์ของ คราวน์ พลาซา (Crowne Plaza) และ (เคพีเอ็มจี) KPMG จนมีรายรับราว 47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.6 พันล้านบาท)ต่อปี

ขณะที่นักกอล์ฟหญิงที่มีรายได้สูงสุดจากการเปิดเผยของนิตยสารฉบับเดียวกันนั้นระบุว่าเป็น แอนนิกา โซเรนตัม ด้วยจำนวนสูงถึง 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 420 ล้านบาท) ก่อนที่เจ้าตัวจะประกาศอำลาสนามไปเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเพื่อไปชีวิตครอบครัว และตลอด 15 ปีของชีวิตนักกอล์ฟ แอนนิก้า สะสมเฉพาะเงินรางวัลอย่างเดียวได้ถึง 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 805 ล้านบาท) ส่วนชีวิตหลังจากแขวนถุงกอล์ฟนั้น รายได้ก็ยังไม่ขาดมือเพราะโปรสาวมากประสบการณ์มีงานบริหารโรงเรียนสอนกอล์ฟ ธุรกิจการออกแบบสนาม เป็นพรีเซนเตอร์ไวน์ และน้ำหอม นอกจากนี้ยังเป็นพันธมิตรกับบรรดาสินค้าชั้นนำอีกว่า 10 รายการอย่าง คัลลาเวย์ กอล์ฟ (Callaway Golf) , คราฟท์ฟูด (Kraft Food) และ โรเล็กซ์ (Rolex) เป็นต้น

ทั้งหมดนี่คือโลกของนักกอล์ฟอาชีพที่เงินรายได้สะพัดหลายพันล้านบาทในช่วงเวลาเพียงหนึ่งฤดูกาล ส่วนจะมีสวิงรายใดก้าวเข้ามายืนในจุดนี้ได้บ้างนั้น คงต้องถามกลับไปว่าคุณทุ่มต้นทุนในความพยายามเพื่อแสวงหาความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
เอทีแอนด์ที (AT&T) เป็นโลโก้ใหม่แทน บูอิค (Buick)
ฟิล มิกเคลสัน
วีเจย์ ซิงห์
แอนนิกา โซเรนสตัม
กำลังโหลดความคิดเห็น